กรมสุขภาพจิตประกาศแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะเหตุกราดยิง

2020-02-09 15:35:22

กรมสุขภาพจิตประกาศแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะเหตุกราดยิง

Advertisement

อธิบดีกรมสุขภาพจิตประกาศแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ รับมือผลกระทบทางด้านจิตใจจากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีเหตุกราดยิงที่จ.นครราชสีมา ว่า กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤติสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนเป็นการเร่งด่วนตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา และภายในช่วงเช้านี้ ได้มีการจัดทีมบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม ประกอบด้วยทีมจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมบูรณาการกับทีม MCATT ในพื้นที่ โดยกรมสุขภาพจิตแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ การสนับสนุนด้านวิชาการ การเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน และการลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงาน ซึ่งในกรณีหากมีผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น กรมสุขภาพจิตยังได้ทำการเตรียมทีม MCATT สำรองสำหรับการดูแลผู้ป่วยทั่วไปจำนวน 8 ทีม และดูแลเด็กและเยาวชนจำนวน 3 ทีม


นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวต่ออีกว่า กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะฉุกเฉิน (72 ชั่วโมงแรก) ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT เพื่อเข้าประเมินประชาชน คัดกรอง และให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความสูญเสียโดยตรง

2. ระยะสั้น (2 สัปดาห์แรก) ผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอาจยังได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง อาจเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นบางประการ เช่น เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ ไม่สามารถปรับตัวได้ ประชาชนอาจมีความวิตกกังวลในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน กรมสุขภาพจิตโดยทีม MCATT และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จะให้การบำบัดรักษาในรายที่จำเป็น เริ่มทำกิจกรรมต่างๆกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เกิดพลังใจทางบวก เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจ พร้อมที่จะกลับไปชีวิตตามปกติหลังจากนี้ และติดตามผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

3. ระยะกลาง (6 เดือน) ในกลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตอยู่จะทำการติดตามต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อติดตามปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดตามมาในภายหลังได้ เช่น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD เป็นต้น


4. ระยะยาว กรมสุขภาพจิตจะยังคงติดตามเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญเสีย ที่อาจยังต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด

ทั้งนี้ หากประชาชนพบความผิดปกติด้านจิตใจของตนเองหรือคนใกล้ชิด ประชาชนในพื้นที่สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง