ปลัด ทส.ถกแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ

2020-02-05 19:00:02

ปลัด ทส.ถกแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ

Advertisement

ปลัด ทส. ประชุมคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศเร่งนำไปใช้ปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่อาคารกรมควบคุมมลพิษ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองระดับชาติ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำทางวิชาการและเผยแพร่ข้อมูลในทางวิชาการ ช่วยสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ เพื่อให้การบริหารจัดการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งแต่งตั้งตามความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามคำสั่ง โดยมีองค์ประกอบปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษา เป็นคณะอนุกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจประกอบด้วย

1. เสนอแนะนโยบายและมาตรการ ตามหลักวิชาการที่ปฏิบัติได้จริงในการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 2. จัดทำเนื้อหาตามหลักวิชาการเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ใช้ในการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้ถึงต้นเหตุของปัญหามลภาวะทางอากาศ การป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปรับวิถีชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3. เสนอข้อมูลและแนวทางการจัดการตามหลักวิชาการต่อผู้มีอำนาจสั่งการในการแก้ไขปัญหาพิจารณาร่วมกับข้อมูลในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการในพื้นที่โดยเฉพาะการจัดการเชื้อเพลิงและการควบคุมดับไฟในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอนและตาก) 4. รวบรวมข้อมูลคาดการณ์มลพิษทางอากาศ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในลักษณะเดียวกันกับการพยากรณ์อากาศและเตรียมรับมือสถานการณ์มลภาวะทางอากาศ 5. เสนอแนะเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศ ในระยะแรกควรเน้นการสรรหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปกป้องประชากรกลุ่มเสี่ยง 6. เชิญบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและความเห็นรวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำข้อเสนอแนะตามข้อที่ 1 ถึง 5 7. รายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ ในการประชุมได้พิจารณาข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองPM2.5 และได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และกลุ่ม 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งผลการประชุมดังกล่าว จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อไป