เทศบาลประโคนชัย บุรีรัมย์ ทุ่มงบกว่า 15 ล้านบาท แก้ไขปัญหาน้ำดิบผลิตประปาขาดแคลน เผยต้องผันน้ำไกลกว่า 70 กม. ใช้เครื่องสูบน้ำ 11 จุด เจ้าหน้าที่ทำงานตลอด 24 ชม.หลายหน่วยงานเข้าช่วย คาดตัวอำเภอพ้นวิกฤติแต่ยังห่วงท้องถิ่นที่ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้เพราะติดระเบียบราชการ วอนรัฐแก้ไขข้อบกพร่อง
วันที่ 5 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาภัยแล้งที่ จ.บุรีรัมย์ ยังน่าเป็นห่วงทั้งจังหวัดใน 23 อำเภอ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาที่กำลังอยู่ในขั้นวิกฤติในขณะนี้
ล่าสุดเทศบาลตำบลประโคนชัย อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ถึงกับยอมตั้งงบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำประเทีย ต.หนองแวง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ผ่านร่องน้ำขนาดเล็ก และใช้ร่องกลางถนน เป็นเส้นทางส่งน้ำ ไกลกว่า 70 กม. เพื่อเอามาเติมจุดสูบน้ำประปาเทศบาลประโคนชัย
นายประสงค์ พวงไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลประโคนชัย กล่าวว่า ทางเทศบาลฯ ได้เริ่มประเมินสถานการณ์น้ำ และน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาในเขตเทศบาล มาตั้งแต่เดือน ต.ค. 62 ที่ผ่านมา ตอนแรกมีแนวคิดที่จะระดมเจาะน้ำบาดาล แต่หลายหน่วยงานระบุจะไม่เพียงพออย่างแน่นอน
มีเพียงอ่างเก็บน้ำ "ลำประเทีย” ในเขต อ.ละหานทราย แต่มีระยะไกลถึงกว่า 70 กม.จึงประสาน สส.ในพื้นที่หาช่องทางผันน้ำ ก่อนจะสำรวจเส้นทางแล้วเริ่มดำเนินการ มีทั้งขอร่องน้ำผ่านที่เอกชน และร่องน้ำขนาดเล็ก รวมถึงขอใช้ร่องกลางถนนสาย 24 ระยะทาง 5 กม.เพื่อส่งน้ำ
นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลประโคนชัย กล่าวด้วยว่า การผันน้ำครั้งนี้ต้องใช้เครื่องสูบน้ำถึง 11 เครื่อง โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด กรมชลประทาน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 และเขต 6 และเทศบาลตำบลปะคำ นำเครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือ
นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชม. เพื่อตรวจสอบการรั่วไหลของน้ำ รวมถึงมีการแอบขโมยน้ำตลอดเส้นทางน้ำไหล ถือว่าเป็นการทำงานที่ยากลำบากที่สุดเท่าที่เจอมากับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
หากรวมเงินที่ใช้ไปทั้งงบประมาณขุดเจาะน้ำบาดาล การแต่งและขุดร่องน้ำนานกว่า 1 เดือน ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 12 ล้านบาท โดยตามกำหนดการจะหยุดสูบน้ำภายในวันที่ 14 ก.พ.นี้ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณในการปรับร่องน้ำให้เข้าสภาพปกติ จะต้องใช้เงินอีกไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
ด้านนายรุ่งโรจน์ ทองศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคภูมิใจไทย เขต 8 บุรีรัมย์ กล่าวว่า ตอนนี้ถือว่าน้ำประปาในเขตตัวอำเภอบ้านกรวด ,ละหานทราย ,โนนดินแดง ,เฉลิมพระเกียรติ และ อ.ปะคำ พ้นวิกฤติ
พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ พื้นที่ตามหมู่บ้าน ตำบลต่างๆ เพราะแหล่งน้ำส่วนใหญ่แห้งขอด การขุดเจาะน้ำบาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถกระทำได้ทันที เพราะหากตั้งงบประมาณขุดเจาะน้ำบาดาล จะต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตกรมทรัพยากรน้ำ และอีกหลายขั้นตอน ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 1 ปี จึงอยากจะให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เร่งด่วน เช่น ให้ท้องถิ่นทำการขุดเจาะก่อนแล้วทำเรื่องตามที่หลัง หรืออาจจะมีการแก้ไขกฎระเบียบเร่งด่วน เพื่อให้ปัญหาวิกฤติแล้งปีนี้ผ่านไปได้ด้วยดี