“สุทิน”อัดรัฐบาลบล็อกวันซักฟอก

2020-02-04 12:55:22

“สุทิน”อัดรัฐบาลบล็อกวันซักฟอก

Advertisement

“สุทิน”อัดรัฐบาลบล็อกวันซักฟอกเท่ากับการบังคับทางอ้อม ยันญัตติไม่เป็นเท็จ ขู่บีบอภิปราย 25-27 ก.พ. ลงมติ28ก.พ.อาจต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญพิจารณาต่อ

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณีที่วิปรัฐบาลยื่นเรื่องขอให้ประธานสภาฯ แก้ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรสยบุคตลของฝ่ายค้าน โดยอ้างว่ามีการใช้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ ว่า เป็นการวินิจฉัยของฝ่ายรัฐบาลเองว่าเป็นเท็จ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นอำนาจการวินิจฉัยของประธานสภาฯ ส่วนตัวก็ไม่เห็นว่าญัตติดังกล่าวเป็นเท็จอย่างไร เพราะถ้าคิดว่าเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเท็จ ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องเป็นคนบอกมาว่าใครเป็นคนฉีกรัฐธรรมนูญ จะเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หรือว่าใคร ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความจริง แต่รัฐบาลไม่ยอมรับความจริง ถ้ามองเป็นเรื่องภาษา เป็นถ้อยคำเฉยๆ นั้นตนคิดว่าเป็นเรื่องหยุมหยิม ควรเอาความจริงมาเป็นที่ตั้ง ถ้าเราไม่บอกว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นคนล้มล้างรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่รู้จะไปกล่าวหาใคร หรือจะเอานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แทน ตนจึงคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นสาระ ต้องฟังประธานสภาฯ วินิจฉัยมากกว่ารัฐบาล

เมื่อถามว่า การใช้คำว่าล้มล้าง กับคำว่าฉีกรัฐธรรมนูญ คำไหนแรงกว่ากัน นายสุทินกล่าวว่า ที่จริงคำว่าล้มล้างกับฉีกนั้นไม่ต่างกัน เพียงแต่คำว่าการฉีกรัฐธรรมนูญเป็นภาษาพูด แต่ล้มล้างเป็นภาษาเขียน ซึ่งความรุนแรงเท่ากัน แต่รัฐบาลไม่ยอมรับความจริง ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่อยากคิดว่าเป็นการตีรวน และไม่ต้องการให้เรื่องนี้มาเป็นประเด็น ส่วนกรณีที่วิปรัฐบาลระบุว่ายอมไม่ได้ หากมีการอภิปรายย้อนหลังไปในสมัยรัฐบาลคสช. ซึ่งอาจจะมีการป่วนตั้งแต่เริ่มต้นนั้น นายสุทินกล่าวว่า คิดว่ารัฐบาลตั้งใจใช้ประเด็นนี้อยู่แล้วเพื่อขัดจังหวะการทำงานของฝ่ายค้าน ซึ่งอยู่ที่การวินิจฉัยของประธานสภาฯ ที่จะนัดประชุมในวันที่ 5 ก.พ.ว่าจะสามารถท้าวความไปได้แค่ไหน ยืนยันว่าเราจะทำตามข้อบังคับและกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ต้องดูที่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นจากจุดไหน แล้วต้องมาพิจารณาดูว่าอภิปรายย้อนหลังหรือไปข้างหน้า แต่ถ้าจะให้อภิปรายแต่ข้างหน้าก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ทำให้ต้องมีการอภิปรายย้อนหลังไปถึงช่วง คสช. บ้าง เพราะหลายเรื่องเกิดจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องโยงไปถึงจุดตั้งต้นของปัญหา

สำหรับการกำหนดวันอภิปรายที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอให้อภิปรายระหว่างวันที่ 25 -27 ก.พ. และลงมติในวันที่ 28 ก.พ.นั้น นายสุทินกล่าวว่า เป็นความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่จะบล็อกวันอภิปรายให้ชนกับวันปิดสมัยประชุมสภาฯ เป็นการบังคับทางอ้อม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะกดดัน ทำให้ผิดข้อบังคับและเจตนารมณ์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะตามรัฐธรรมนูญต้องให้ฝ่ายค้านอภิปรายจนครบถ้วน หากอภิปรายตามที่ฝ่ายรัฐบาลกำหนด แล้วในวันที่ 28 ก.พ.อภิปรายยังไม่จบจะทำอย่างไร ต้องเปิดการประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่ เพราะถ้าอภิปรายไม่จบก็ปิดไม่ได้ ซึ่งไม่น่าจะใช้วิธีนี้ ดังนั้น ส่วนตัวยังเห็นว่า วันที่เหมาะสม ควรจะเริ่มต้นวันที่ 19 ก.พ.เรื่อยไป จบเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น หรือจะเร็วกว่านั้นก็ได้ ฝ่ายค้านพร้อมตลอด จะเอาวันที่ 10 ก.พ.ก็ยังได้ ไม่มีปัญหา