คงมองอย่างเข้าใจได้แค่ประการเดียว คือขอให้ถอนฟ้องคดีที่เจ้าตัวโดนอยู่
ส่วนเหตุผลอย่างอื่น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ไม่มีอะไรอธิบายได้เลย มิหนำซ้ำ ศักดิ์ศรีป่นปี้ไม่มีเหลือ
นายสัตวแพทย์ธีทัชฐ์ เกียรติลดารมย์ อดีตนักศึกษาหัวก้าวหน้า อดีตเด็กกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของภาคอีสาน และอดีตสมาชิก-อดีตผู้สมัคร ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง
ก้มลงกราบเท้า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ระหว่างแถลงข่าวที่รัฐสภา
หลังจากรายแรกถูกรายหลังฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างน้อย 2 คดี คือ กล่าวหาต้องมลทินร้ายแรงจนถูกคำสั่งให้ออกจากราชการ และทุจริตจัดซื้อรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ตร.
นสพ.ธีทัชฐ์ ยังหวุดหวิดจะโดนฟ้องอีกหนึ่งคดีจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายพรรคที่เขาเคยเป็นสมาชิกและเป็นผู้สมัคร ส.ส. กรณีกล่าวหามีการวิ่งเต้นและรับเงินถึง 600 ล้านบาทสำหรับซื้อขายตำแหน่งอธิบดีบางกรมในกระทรวง แต่เรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรฯ พา นสพ.ธีทัชฐ์ ไปขอขมาลาโทษ "ลูกท็อป" ทันเสียก่อน
อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองล่าสุดที่เขาสังกัด เป็นหนึ่งในคนที่สนใจการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมืองตามแนวทางของ "นักแสวงหา" ที่สืบทอดเจตนารมย์กันมาตั้งแต่ยุคสมัย 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ถึงขั้นเขาเคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า นักกิจกรรมและอดีต ส.ส.ที่เป็น "ตัวจี๊ด" ทางการเมือง อย่าง "แจ๊ค"วัชระ เพชรทอง และ "ตู่" จตุพร พรหมพันธ์ รวมทั้ง "เต้"มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ล้วนแต่เคยเดินตามเขาแจกใบปลิวและเคลื่อนไหวงานการเมืองมาแล้วทั้งสิ้น
เขาลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก ปี 2550 ในสังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นแกนนำสำคัญ และมีนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค ก่อนจะย้ายไปอีกหลายพรรค ผลงานหนึ่งที่ฝากไว้และเป็นข่าวเปิดเผยบนหน้าสื่อ คือมุทะลุดุดันแม้แต่ในพรรคเอง เขามักเรียกร้องให้หัวหน้าช่วยดูแลสนับสนุนเงินทุนสำหรับการเลือกตั้ง แต่ถึงแม้จะลงสมัคร ส.ส. มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้เป็น ส.ส. สมใจเสียที
ขณะที่การเล่นบท "ห้าวเป้ง" ชวนเรียกแขกชัดเจนขึ้นมากในสังกัดพลังประชาารัฐ ทั้งกับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ และนายวราวุธ
นอกจากนี้ เจ้าตัวยังอ้าง ร.อ.ธรรมนัส ทาบทามให้รับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี แต่สุดท้าย ไม่มีชื่อปรากฎอย่างที่อ้าง
กระทั่งยื่นหนังสือลาออกจากพรรค พร้อมเสนอตัวเป็นแกนนำให้กับพรรคอนาคตใหม่หากถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ขณะเดียวกันก็อ้างจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ของตัวเอง
จึงปฏืเสธไม่ได้ว่า ถูกมองด้วยความกังขาในระดับหนึ่งถึงบทบาทในช่วงที่ผ่านมา
ส่วน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แม้จะเพิ่งเป็น ส.ส. สมัยแรก แต่ด้วยบุคคลิก "ท้าชน" เสียงดังไม่กลัวใคร ทำให้สามารถนำพาลูกพรรคเข้าสภาได้ถึง 10 คน(รวม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์) ก่อนจะสร้างผลงานเป็น "คู่ฟัด" กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กระทั่งมีการตัดพี่ตัดน้อง จากนั้นก็ตามล่าตามล้างไม่เลิก ปมนำ ครม. ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน และยืนยันจะอภิปรายเรื่องนี้ต่อในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ขณะเดียวกัน บนเก้าอี้ประธาน กมธ. ป้องกันและปรายปรามการทุจริตฯ หรือ กมธ. ปราบโกง ของสภาผู้แทนฯ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่อง ทั้งบนหน้าสื่อหลักและสื่อออนไลน์ กรณีเปิดศึกวิวาทะไม่เลิกกับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ และนายสิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐ กระทั่งกลบบทบาทที่ควรจะเป็นของกมธ.ชุดดังกล่าวไปเลย
หลายคนแสดงความเห็นว่า หาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ วางตัวเป็นผู้ใหญ่ ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย สุดท้าย 2 คู่หูจะฝ่อไปเอง แต่เพราะบุคคลิกโผงผางอารมณ์ร้อนจุดติดง่าย จึงทำให้ยังคงมีศึกประทะฝีปากใน กมธ. ทุกครั้งที่นัดประชุม แม้แต่วันที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนฯ เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้ถูกร้องเรียน
ในวันที่เกิดเหตุ "กราบตีน" ในสภาฯ จุดเริ่มต้นก็มาจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ มีส่วนในการท้าทาย นสพ.ธีทัชฐ์ ว่ากล้ากราบเท้า ต่อหน้าผู้สื่อข่าวหรือไม่ ถ้ากล้า ก็พร้อมจะเขี่ยๆออกไป
จึงนำไปสู่เหตุการณ์ที่ผู้คนส่วนใหญ่ส่ายหน้าผะอืดผะอม
ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว จะเกิดจากตั้งใจจริง ไม่มีการจัดฉากหรือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของพิธีการขอขมาใดๆ แต่ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ก็ไม่ควรให้เกิดขึ้นถึงขนาดนั้นอยู่ดี
เป็นบันทึกที่ไม่น่าจะมีประโยชน์ใดๆในประวัติศาสตร์การเมืองไทย