แพทย์ รพ.ราชวิถี เปิดสูตรยารักษาผู้ป่วยปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสมโลพินาเวียร์และลิโทนาเวียร์ ร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ หลังเก็บเชื้อตรวจ 48 ชม. ผลเป็นลบ
เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมการรับคนไทยกลับจากอู่ฮั่น ว่า รัฐบาลได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนรับคนไทยกลับจากอู่ฮั่น ซึ่งกระทรวงต่างประเทศได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานงานล่วงหน้า เตรียมนำคนไทยกลับจากอู่ฮั่น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบด้านการรักษา ป้องกันควบคุมโรคจนกว่าจะปลอดภัย มีทีมแพทย์ ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ด้านระบาดวิทยา จิตแพทย์ พยาบาล พร้อมเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้ในระหว่างการเดินทาง ร่วมปฏิบัติการระดับชาติในครั้งนี้ เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยจะทำตามมาตรฐานทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ ประชาชนอาจมีข้อสงสัยว่าคนไทยที่จะเดินทางกลับอาจนำโรคมาแพร่นั้น เพื่อความมั่นใจขอแจ้งให้ทราบว่า ก่อนขึ้นเครื่องหากพบว่ารายใดมีไข้หรือมีอาการน่าสงสัย ทางการจีนจะไม่ให้ขึ้นเครื่องกลับประเทศไทยเด็ดขาด เมื่อมาถึงประเทศไทยก็จะได้รับการดูแลตามมาตรฐานป้องกันควบคุมโรคสูงสุด ส่วนสถานที่รองรับเพื่อสังเกตอาการ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ในวันนี้ มีข่าวดีเรื่องการรักษาผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่งต่อจากต่างจังหวัดมารับการรักษาที่ รพ.ราชวิถี มีอาการปอดอักเสบ ค่อนข้างหนัก แพทย์ได้ทำการรักษา โดยใช้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่และเอชไอวี ซึ่งพบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้นภายใน 48 ชม. ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อไวรัสดังกล่าว
“พวกเราทุกคนในวันนี้ ทำงานตลอด 24 ชม. ไม่มีวันหยุด ทั้งเรื่องการป้องกัน การรักษา มีความพร้อมเต็มที่ในการรับมือกับการระบาด ถือความปลอดภัยของประชาชนชาวไทยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” สวมหน้ากากอนามัย” นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ อติพรวณิช อายุรแพทย์โรคปอด นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.ราชวิถี กล่าวถึงการรักษาผู้ป่วยชาวจีนหายภายใน 48 ชม. ว่า โรคนี้เป็นโรคใหม่ เราจึงศึกษาข้อมูล ซึ่งมีรายงานว่าประเทศจีนใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในการรักษาโรค ซึ่งยาต้านไวรัสเอชไอวีในประเทศไทยทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตได้เองอยู่แล้ว ประกอบกับก่อนหน้านี้มีรายงานว่าใช้ในการรักษาโรคเมอร์ด้วย
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า วันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา รพ.ราชวิถีได้รับการส่งตัวผู้ป่วยชาวจีนอายุ 70 ปี มีโรคประจำตัว จาก รพ.แห่งหนึ่งที่หัวหิน เพราะมีอาการหนัก มากถึงขนาดที่อาจจะต้องตัดสินใจใส่ท่อช่วยหายใจ มีภาวะปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด มีค่าการอักเสบในเลือดเพิ่มขึ้นทุกวันๆ พอมาถึงรพ.ราชวิถี จึงได้ให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งเป็นสูตรผสม ร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยให้ยาตั้งแต่วันแรกที่รับเข้ารักษาที่รพ.ราชวิถีคือเมื่อวันที่ 29 ม.ค.โดยการให้ยา จะใช้ในขนาดที่สูงเพราะเป็นคนไข้ที่มีอาการหนัก
“สำหรับสัดส่วนยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เป็นยาสูตรผสมโลพินาเวียร์และลิโทนาเวียร์ ที่อยู่ในเม็ดเดียวกันขนาด 200/50 มิลลิกรัม โดยให้ครั้งละ 2 เม็ด เช้าเย็น ร่วมกับการให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ 75 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด เช้าเย็น รวม 300 มิลลิกรัม ผลการให้ยาปรากฏว่าไม่ถึง 12 ชม. จากคนไข้ที่ดูอ่อนเพลีย ลุกไม่ได้ กลับมาลุกนั่งได้ไข้ลดลง อาการเหนื่อยน้อยลง หลังเก็บเชื้อตรวจ 48 ชม. ปรากฏว่ามีผลเป็นลบ ทั้งที่รักษาตัวมาเป็น 10 วันเชื้อยังเป็นบวกอยู่” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าสูตรยาของ รพ.ราชวิถีต่างจากประเทศจีนอย่างไร นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ในจีนที่แนะนำการรักษาก่อนหน้านี้ คือใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างเดียว ไม่ได้ให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โอเซลทามิเวียร์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าทางจีนหรือประเทศอื่นๆ มีการรักษาด้วยวิธีการนี้หรือไม่ อาจจะมีก็ได้แต่ยังไม่ได้มีการรายงานออกมา ส่วนของไทยตอนนี้ก็มีการให้ยาสูตรของ รพ.ราชวิถีอีก 1 ราย ซึ่งเป็นคนไทย อายุ 33 ปี มีอาการปอดอัดเสบ เช่นกัน แต่ติดเชื้อและมีอาการที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้มีประวัติสัมผัสคนจีน โดยหลังจากได้รับยาตามสูตรนี้แล้ว อาการดีขึ้นมาก แต่ยังอยู่ระหว่างการรอผลแล็บ
รศ.นพ.สืบสาย คงแสงดาว นายแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.ราชวิถี หนึ่งในทีมรักษา กล่าวว่า วิธีการรักษาในประเทศต่างๆนั้น ทางการจีนและประเทศอื่นมีการรายงานออกมาเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อว่าความร่วมมือของแพทย์ทั่วโลกจะทำการพัฒนาการรักษาร่วมกัน โดยไทยจะเป็นประเทศหนึ่งร่วมช่วยกัน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรักษาวิธีนี้ 3 ราย แต่ 1 รายแพ้ยาโอเซลทามิเวียร์จึงหยุดการให้ยาที่แพ้ ส่วนอีก 2 ราย อาการดีขึ้น ทั้งนี้หากคนไข้อาการหนัก จะพิจารณาแนวทางการใช้สูตรยาของรพ.ราชวิถีเป็นทางเลือกการรักษา มีการเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ และจะแบ่งปันข้อมูลร่วมนานาประเทศด้วย