สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาพบผู้ป่วยอาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อนต้องได้รับการดูแลรักษา 10 เดือนที่ผ่านมากว่า 700 คน ส่วนใหญ่ติดเหล้า ยาบ้า กัญชา
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชแห่งแรกที่เก่าแก่ที่สุดของกรมสุขภาพจิต เปิดบริการมาแล้ว 128 ปี ดูแลในเขตพื้นที่ กทม.ทั้งหมด ปัจจุบันมีเตียงรับผู้ป่วย 500 เตียง มีผู้ปวยนอกเฉลี่ยวันละ 500 คน ผลงานในรอบ10 เดือนปีนี้ มีความก้าวหน้ามาก มีผู้ป่วยนอกใช้บริการ 125,119 คน ยอดเพื่มขึ้นจากรอบ 2 ปีที่ผ่านมาร้อยละ31 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจาก กทม. ในส่วนของผู้ป่วยใน ซึ่งได้เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง ในเขตสุขภาพที่ 6 ซึ่งมี 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
“ในรอบ10 เดือน มีผู้ป่วยประเภทนี้อยู่ในความมาดูแลทั้งหมด 4,158 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า 700 คน ผู้ป่วยที่พบมากอันดับ1 ได้แก่ผู้ป่วยจิตเวชที่มีการใช้เหล้าและสารเสพติดร่วมด้วย ร้อยละ 65 โดยสารเสพติดที่ใช้มากที่สุดได้แก่ ยาบ้า และกัญชา รองลงมาคือโรคจิตเภท นอกจากนั้นยังมีการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงในสังคม เช่น ผู้ป่วยคดี ได้มีการบำบัดรักษาและติดตามผู้ป่วยทุกราย พบว่าไม่มีการกลับไปก่อเหตุซ้ำในชุมชนแต่อย่างใด”น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายจะพัฒนาให้สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เป็นสถาบันที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการด้านประสาทจิตเวชศาสตร์ในระดับอเซีย ทั้งนี้จะตั้งงบประมาณลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยในปี 2562 สำหรับการตรวจวินิจฉัยคลื่นไฟฟ้าสมองและระบบประสาท เครื่องตรวจวินิจฉัยความผิดปกติในการนอนหลับ เครื่องกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า