พึงรู้กับ"ไวรัสอู่ฮั่น" เช็กก่อนเชื่อ-อย่าริเปิบค้างคาว

2020-01-30 18:40:18

พึงรู้กับ"ไวรัสอู่ฮั่น" เช็กก่อนเชื่อ-อย่าริเปิบค้างคาว

Advertisement


1. การเสพข่าว โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ "อู่ฮั่น" ควรต้องมีสติ ใช้เหตุใช้ผลหรือตรวจสอบก่อนที่จะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง อย่าเชื่อและแชร์ทันทีที่ได้รับข้อมูลมา อาทิ กรณีข่าวหญิงไทยตายที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียเมื่อ 27 ม.ค.63 อ้างเดินทางเข้าอินเดียตั้งแต่ พ.ย. 62 ซึ่งความจริงเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีข่าวและการระบาดของไวรัสอู๋ฮั่น จึงเป็นไปไม่ได้

ข่าวจากโซเชียลจะมีหลากหลายมาก ทางที่ดีควรตรวจสอบโดยตรวจเช็กจาก google ก่อน ว่าข่าวมาจากไหน เป็นสำนักข่าวที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเคยได้ยินหรือไม่ เพราะคนสร้างข่าวเหล่านี้ มักหวังสร้างเรตติ้งหรือต้องการสร้างความปั่นป่วนโกลาหลให้ผู้คนในสังคม


2. เชื่อมั่นในระบบและศักยภาพการรับมือโรคแพร่ระบาดของไทย ซึ่งเคยผ่านและจัดการได้ดีจากกรณีโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือซาร์ส โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือเมอร์ส รวมทั้งไข้หวัดนก กระทั่งไทยติดอันดับ 6 จาก 195 ประเทศทั่วโลก จาก 2019 Global Health Index

อย่างไรก็ดี มีเสียงเตือนไม่ควรเลินเล่อหรือประเมิน "ไวรัสอู๋ฮั่น" ต่ำเกินไปอย่างที่เลขาธิการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กล่าวยอมรับไว้ เพราะมีลักษณะกลายพันธุ์ สามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้แม้ในระยะฟักตัว คือขณะยังไม่แสดงอาการไข้นั่นเอง


3. การส่งเครื่องบินไปรับคนไทยและนักศึกษาไทยในเมืองอู๋ฮั่นกลับประเทศ รวม 64 คน ต้องปรับเปลี่ยนจากเครื่องบินทหาร ประเภท ซี 130 เป็นเครื่องบินพาณิชย์ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของจีน ส่วนกรอบเวลา นายสาธิต ปิตุเตชะ  รมช.สาธารณสุข ตอบกระทู้ในสภาฯเมื่อวันพุธที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ระบุชัดปฏิบัติการจะเกิดขึ้นภายในไม่เกินวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563

ทั้งนี้ขั้นตอนปฏิบัติ คือต้องมีแจ้งประสานไปยังทางการจีน โดยกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นต้องให้ทางการจีนพิจารณาและอนุมัติ เหมือนกรณีญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ส่งเครื่องบินไปรับคนกลับประเทศ

รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง วิจารณ์เรื่องนี้ว่า เพราะเป็นการประสานงานล่าช้า ทั้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เพราะคนไทยที่ตกค้างในจีน ต่างก็หวาดกลัว และอยากกลับประเทศไทยโดยเร็วทั้งสิ้น


4. ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อู๋ฮั่นที่ทะลุ 6 พันคน และมีแนวโน้มจะเกิน 8 พันในเวลาอันสั้นนี้ จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อทำลายสถิติโรคซาร์ส ที่แพร่ระบาดในปี 2545-2546 ซึ่งค้นพบและเริ่มต้นจากประเทศจีนเช่นกัน ด้วยจำนวน 8,098 คนใน 29 ประเทศ และมียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 774 คน (ไวรัสอู๋ฮั่น ณ เช้าวันที่ 30 ม.ค.63 เสียชีวิตแล้ว 170 คน)

ส่วนสถิติอันดับ 1 จากโรคระบาดยังเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 2009 ซึ่งระบาดในปี 2552 กระจายไปถึง 119 ประเทศทั่วโลก มีผู้ป่วยติดเชื้อ สูงถึง 622,482 คน และสียชีวิตประมาณ 18,000 คน รวมทั้งประเทศไทยด้วย




5. ค้างค้าวที่เชื่อว่าบางชนิดเป็นต้นตอของไวรัสอู๋ฮั่น ในโลกนี้มีประมาณ 1,000 ชนิด (ในไทยมีประมาณ 100 ชนิด) แบ่งเป็นค้างค้าวกินผลไม้และเกสรดอกไม้ กับค้างค้าวกินแมลง

ไวรัสในค้างคาว มีการค้นพบมากกว่า 60 ชนิด นอกจากไวรัสอู๋ฮั่นแล้ว ยังพบไวรัสที่เป็นต้นเหตุการแพร่ระบาดโรคอีกหลายโรค อาทิ ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ไวรัสอีโบล่า(Ebola) ไวรัสซาร์ส (SARS) ไวรัสนิปาห์ (Nipah)

การวิจัยที่ได้รับเงินทุนจากสกว.หรือสำนักงานสนับสนุนกา รวิจัย ได้ตรวจพบไวรัสนิปาห์ ที่ก่อให้เกิดโรคสมองอักเสบ จากการตรวจเลือด น้ำลาย และปัสสาวะของค้างคาวแม่ไก่ และเชื่อว่าค้างคาวชนิดอื่นก็จะมีไวรัสนิปาห์เช่นเดียวกัน

ทั้งในเลือด น้ำลายและเครื่องใน โดยเฉพาะตับ ม้าม และช่วงเยื่อบุช่องท้อง ยิ่งหากมีบาดแผล เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ทันที

การบริโภคค้างค้าว ซึ่งคนจีนส่วนหนึ่งนิยมมากเนื่องจากความเชื่อว่าจะเป็นยาโป๊วบำรุงสุขภาพนั้น แม้จะกินได้หากป่านการแรุงให้สุก แต่ก่อนการปรุงจะมีโกาสติดเชื้อไวรัสหลายขั้นตอน ตั้งแต่การจับ ชำแหละ และระหว่างปรุง เพราะเชื้อไวรัสจะสะสมอยู่

เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ใช้เวลาฟักเชื้อนานถึง 1 เดือน บางชนิดเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายคนและใช้เวลานานถึง 2 ปีค่อยแสดงอาการก็มี

ขณะที่ประโยชน์ของค้างคาวกลับมีมากกว่าโดยเฉพาะการช่วยผสมเกสร ขยายพันธุ์พืช รวมทั้งรักษาความสมดุลของระบบนิเวศน์ และหนึ่งๆจะคลอดลูกได้เพียงตัวเดียวเท่านั้น

ปกตินิสัยค้างคาวก็ขี้อาย จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับคนอยู่แล้ว แต่มนุษย์จิตใจแผลงๆต่างหากที่ไปรบกวนและจะนำค้างคาวมาเป็นเมนูเปิบพิสดาร

ฉะนั้น งดรบกวนหรือบริโภคค้างคาวกันดีกว่าไหมครับ?