"ปิยบุตร" หนุนร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน

2020-01-30 18:35:32

"ปิยบุตร" หนุนร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน

Advertisement

กมธ.กฎหมายต้อนรับ 12 องค์กรภาคประชาชน เสนอร่างกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน บังคับบุคคลสูญหาย "ปิยบุตร" หนุนเต็มที่พร้อมดันเข้าสภาฯ ลั่นกรณีละเมิดสิทธิแบบในอดีตต้องไม่เกิดขึ้นอีก

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นำโดย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธาน กมธ. พร้อมด้วย น.ส.พรรณิการ์ วานิช รองประธาน กมธ. นายรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ. ร่วมต้อนรับภาคประชาชน 12 องค์กร ที่มายื่นหนังสือเพื่อให้ช่วยผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฉบับประชาชน

นายปิยบุตร กล่าวว่า ขอบคุณภาคประชาชนทั้ง 12 องค์กร ที่เป็นตัวแทนเสนอร่างกฎหมายนี้ ทั้งนี้ กมธ.เราให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การปรับปรุงกฎหมายที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนษยชน เราพร้อมทำงานกับภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศ เราเห็นด้วยกับหลักการที่ภาคประชาชนเสนอเข้ามา และจะผลักดันต่อไปให้กับ กมธ.ที่มาจากหลากหลายพรรคการเมือง เพื่อที่จะได้เชิญเพื่อน ส.ส.ให้ลงชื่อ ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และกลายเป็น ร่าง พ.ร.บ. ของสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบด้วย ส.ส.จากหลากหลายพรรคการเมืองต่อไป และทำให้สังคมเห็นว่า ส.ส.ประเทศไทยจำนวนมาก ให้ความสำคัญ กับการป้องกันซ้อมทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย 


"ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่แต่เพียงการอนุวัติการให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ป้องกันไม่ให้เกิดการซ้อมทรมาน หรือการที่ใช้อำนาจรัฐบังคับบุคคลให้สูญหาย ประเทศไทยจะต้องไม่มีบุคคลที่ถูกซ้อมทรมาน ประเทศไทยจะต้องไม่มีเหยื่อที่ถูกบังคับให้สูญหายอีกต่อไป ประเทศไทยจะต้องไม่มีเหยื่อแบบ หะยีสุหลง, ทนง โพธิ์อ่าน, สมชาย นีละไพจิตร, พอละจี รักจงเจริญ, นายเด่น คำแหล้, อับดุลเลาะ อีซอมูซอ, ฤทธิรงค์ ชื่นจิต, สุรชัย แซ่ด่าน ฯลฯ อีกต่อไป ประเทศไทยต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้การใช้อำนาจรัฐซ้อมทรมานผู้คนหรือบังคับให้บุคคลสูญหาย" นายปิยบุตร กล่าว

ด้าน นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน 12 องค์กร กล่าวว่า รัฐสภาจำเป็นต้องจัดทำกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสังคมไทย เรามีปัญหาเรื่องการซ้อมทรมาน ทำให้บุคคสูญหายในหลายกรณี และเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้บ้านเมืองตลอดมา โดยทั่วโลกได้เห็นปัญหานี้ และได้ออกอนุสัญญาระหว่างประเทศขึ้นมา 2 ฉบับ ซึ่งประเทศไทยเราเห็นด้วยในหลักการเหล่านี้ และพยายามนำมาผลักดันให้เป็นกฎหมายในประเทศ แต่สุดท้ายก็ยังไม่ออกมา รวมถึงร่างของรัฐบาลยังเป็นร่างที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ

"ภาคประชาชนจึงมีความกังวล 1. เรื่องความล่าช้าที่จะทำให้เกิดปัญหา คือยังมีคนคนถูกซ้อมถูกอุ้มหายอยู่เรื่อยๆ เรื่องเก่าไม่คลี่คลาย เรื่องใหม่ก็รอเกิดขึ้น และ 2. ร่างกฎหมายของรัฐบาลออกมาแล้วยังไม่นำสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงได้ ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงร่วมกัน ร่างกฎหมายภาคประชาชน อิงจากหลักหว่างประเทศ ผู้ประสบปัญหาจริง และหน่วยงานที่ติดตามจัดทำเรื่องนี้ ได้ร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ...ฉบับประชาชน โดยหวังว่า กมธ.ชุดนี้ และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ผลักดันให้ออกมาโดยเร็ววันต่อไป" นายสุรพงษ์ กล่าว