รวบตัวเด็กสาววัย 16 ปีอัจฉริยะ สร้างโปรแกรมแฮกไอจี หลอกเงินประชาชน กินเที่ยวสบายใจ หวังสร้างตัวกับแฟนเด็กทอม
วันที่ 29 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย รอง ผบก.สส.ภ.5 พ.ต.ท.นิติพันธ์ สังขกร รองผกก.สส.1 บก.สส.ภ.5 พร้อมชุดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศตำรวจภูธรภาค 5 (ศปอส.ภ.5) ทำการจับกุมตัว น.ส. ไก่ (นามสมมุติ) อายุ 16 ปี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลาพร้อมด้วยของกลาง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 6/2563 ลงวันที่ 17 ม.ค.63 ในข้อหา "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" และตามหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดชัยนาท ที่ 7/2562 ลงวันที่ 2 ธ.ค.62 ในข้อหา"นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดย ประการที่น่าจะเกิดความเสิยหายแก่ผู้อื่นหรือ ประชาชน,ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น"
การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภาค 5 ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ได้ถูกคนร้ายส่งลิงค์แล้วแฮกอินสตราแกรม หรือไอจี มีผู้เสียหายจำนวนหลายรายที่ถูกแฮกไป จากนั้นคนร้ายก็นำเอาไอจี ไปโปรโมทขายของ และหลอกเหยื่อรายอื่นๆ โอนเงินมามีผู้เสียหายรวม 50 รายสูญเงินไปจำนวน 333,200 บาท หลังรับแจ้งทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูล ก็พบว่า คนร้ายคือ น.ส.ไก่. อายุ 16 ปีจึงได้ออกหมายจับและติดตามจับกุมตัวได้ที่คอนโดหรู ถ.เพชรเกษม ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การว่าเดิมเรียนอยู่สถาบันดังใน อ.หาดใหญ่ และรู้จักกับแฟนสาวที่เป็นทอม และอยากสร้างเนื้อสร้างตัว ประกอบกับมีความรู้ด้านอินเตอร์เน็ตมากและมีโปรแกรมแฮก หลายโปรแกรม จึงทดลองแฮกดู ปรากฏว่าสามารถแอ็กไอจี คนอื่นๆได้ก่อนนำมาใช้หาประโยชน์ด้วยการโพสต์ขายของ แต่พอเหยื่อหลงกลโอนเงินมาก็หนีหาย และเหยื่อก็จะไปตามกับเจ้าของไอจี ตัวจริง โดยเงินที่ได้มาก็กินเที่ยว เช่าคอนโดอยู่กับแฟน ไม่คาดจะถูกจับกุมตัว
ด้าน พ.ต.อ.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย รอง ผบก.สส.ภ.5 เปิดเผยว่าเรื่องการแฮกข้อมูลหลอกลวง มีมาหลายคดีจำนวนมากที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ ทางตำรวจภาค 5 อยากฝากเตือนประชาชนผู้ใช้โปรแกรมอินสราแกรม(ไอจี) ให้ระมัดระวังคนร้ายลักลอบเข้าถึงโปรแกรมของตนเอง อย่างเช่น ใช้พาสเวิร์ดที่แตกต่างกันในแต่ละบัญชี หรือใช้ระบบล็อกเข้ารหัสมากกว่า 1 ชั้น เป็นต้น หากได้รับอีเมลว่ามีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่ควรกดตกลงควรตั้งรหัสอย่างน้อย 6 ตัวที่ประกอบไปด้วยตัวอักษร และตัวเลขปะปนกัน หากมี Apps อื่นที่เข้ามาและดูแปลกให้ตัดสิทธิ์ และเปิดระบบยืนยันตัวตน 2 ชั้นในการเข้าไปดูเว็บลิงค์ต่างๆ ที่มีผู้ส่งมาให้ ถ้ามีการกรอกรหัสผ่านเพื่อเข้าโปรแกรมนั้นอีกครั้ง หากไม่แน่ใจว่าเป็นเว็บลิงค์ที่ปลอดภัยหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์ดังกล่าว