"กรณ์" ทิ้งพรรคอีกคน ปชป. มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

2020-01-15 18:40:42

"กรณ์" ทิ้งพรรคอีกคน ปชป. มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

Advertisement

ไม่ใช่เรื่องเกินคาดหมาย กับมือเศรษฐกิจสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ นายกรณ์ จาติกวณิช จะเดินจากพรรคไปอีกคน


เพราะหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ ปชป.พ่ายแพ้เลือกตั้ง ส.ส.แบบย่อยยับ เค้าลางความวุ่นวายก็ปรากฎให้เห็นชัดเจนอยู่แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรค ลาออกจากการเป็น ส.ส. เกิดการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขึ้นเป็นผู้นำพรรคคนใหม่ พร้อมจัดสรรบุคคลากรในพรรคกันใหม่ เปลี่ยนท่าทีกลับไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี


พร้อมจัดสรรบุคคลเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าขัดใจกับคนในพรรคจำนวนหนึ่ง จนนำไปสู่การปริร้าวถึงขั้นทยอยลาออกจากพรรคแบบเลือดไหลออกเป็นระยะๆ

จาก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม คีย์แมนคนสำคัญการเปิดโปงทุจริตจำนำข้าวรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรียุติธรรม และล่าสุด นายกรณ์ อดีตรัฐมนตรีคลัง ซึ่งหลังสุด มีสถานภาพเป็นเพียง ส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่งเท่านั้น

ขณะที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค ตกไปเป็นของนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ บุตรชายคนสำคัญของ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ปี 2535 ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นรุ่นน้องหรือรุ่นหลานก็ว่าได้

นี่ยังไม่นับ กรณีนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.และอดีตประธาน กมธ.ปปช.ของสภาผู้แทนฯ ที่ออกโรงก่อหวอดไม่พอใจชื่อที่ตกหล่นจาก กมธ.ตรวจสอบการสร้างรัฐสภา ทั้งที่ผ่านที่ประชุม ส.ส.พรรคไปแล้ว

รวมถึงกรณีนายเทพไท เสนพงษ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ออกโรงวิจารณ์รัฐบาลหลายเรื่อง รวมทั้งประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ และเพิ่งโดน "บิํกป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่งสัญญาณถึงหัวหน้าพรรคให้คอยปรามการเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลงบ้าง

ถือเป็นเรื่องปัญหาขัดแย้งและเห็นต่างในพรรคที่ยังคาราคาซังไม่เสร็จสิ้น ในยุคสมัยที่นายจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค

นายกรณ์ เป็นหลานชายนายเกษม จาติกวณิช หรือ "มิสเตอร์เค" อดีตผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ(กฟผ.)คนแรก เป็นเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดแห่งอังกฤษกับนายอภิสิทธิ์ และถือจุดเริ่มต้นสำคัญกับการถูกชักชวนให้เข้าสู่แวดวงการเมืองโดยลงสมัคร ส.ส.กรุงเทพฯปี 2548 เอาชนะนายดนุพร ปุณณกันต์ พระเอกละครชื่อดังที่สุดในขณะนั้นจากพรรคไทยรักไทยได้

ปี 2549 มีบทบาทสูงมากในการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์

หลังการรัฐประหารของ คสช.ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงว่างเว้นของนักการเมืองเลือกตั้ง นายกรณ์ได้ลงไปช่วยชาวนาในจังหวัดมหาสารคามรณรงค์ปลูกข้าวหอมมะลิเกษตรอินทรีย์ นอกจากจะลงมือไถหว่าน ดำนากับชาวบ้านเองแล้ว ยังทำหน้าที่ด้านการตลาดให้ จน" ข้าวอิ่ม" กลายเป็นข้าวพรีเมียมที่รู้จักกันดี สร้างผลผลิตคุณภาพและปลอดภัยทั้งกับชาวนาและผู้บริโภค

การลาออกจาก ปชป. หลังร่วมงานมานานถึง 15 ปีของนายกรณ์ มีกระแสข่าวที่หลากหลาย บ้างก็ว่าจะไปร่วมงานและมีตำแหน่งรัฐมนตรีในการปรับ ครม.ครั้งหน้า บ้างก็ว่าจะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่กับพรรคพวกทั้งคนในพรรค ปชป.และคนนอกพรรค เน้นที่สนามท้องถิ่น โดยเฉพาะกทม.ที่หลายคนเห็นว่านายกรณ์เหมาะสมกับเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. รวมถึงก่อนหน้านี้ มีข่าวลือจะไปร่วมมือหนุนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลงชิงชัยผู้ว่าฯกรุงเทพฯ แต่กรณีนี้ ถูกปฏิเสธจากนายชัชชาติแล้ว

แต่ที่แน่ๆ ปชป.ต้องสูญเสียสมาชิกคนสำคัญอย่างนายกรณ์ไป ตั้งแต่ 15 มกราคม 2563 กระทั่งนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตั้งเป็นคำถามสำคัญที่สะท้อนกลับไปถึงผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบัน

"พรรคเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?" แต่ใครล่ะ จะเป็นคนตอบ!

(ขอบคุณภาพ FB : Korn Chatikavanij)