"วิทยาลัยฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์" ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบสื่อสารช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน

2020-01-15 15:25:11

"วิทยาลัยฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์" ร่วมเอไอเอส   พัฒนาระบบสื่อสารช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน

Advertisement

คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอ ไอ เอส พัฒนาระบบโทรคมนาคมเพื่อสนับสนุน “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ”

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ รอง ศ.ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ นำทีมคณะนักวิจัย “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ” ซึ่งประกอบด้วย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ,รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผอ.โครงการวิจัย ,รศ.ดร.วิไลวรรณ ทองเจริญ รองคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้จัดการโครงการวิจัย

อาจารย์มัตติกา ใจจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย,ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผอ.ศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย ที่ปรึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย ,นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เอไอเอส แถลงข่าว “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ”




ทั้งนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิต ทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการทะนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ดังเช่น สถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ

สำหรับภารกิจด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนั้น เป็นภารกิจที่คณะพยาบาลศาสตร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นพระราชปณิธานของ องค์ประธานราชวิทยาลัย ศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งได้ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้การผลิตบัณฑิตทุกสาขาของราชวิทยาลัยมีศักยภาพโดดเด่นด้านการวิจัย คณะพยาบาลศาสตร์เองได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาความรู้และนวัตกรรมด้วยการใช้กระบวนการวิจัย เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมงานบริการสุขภาพให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น



“โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการดูแลและส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ” ที่คณะพยาบาลศาสตร์ได้นำเสนอเพื่อดำเนินการในครั้งนี้ เกิดจากข้อมูลสำคัญที่รวบรวมได้จากผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ต้องเผชิญกับปัญหาเมื่อมีประชาชนเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินและรุนแรงที่ต้องมีการปรึกษาและส่งต่อเพื่อการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ดังเช่น ในพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล ต.บ้านนา จ.ตาก และพื้นที่โดยรอบใน อ.สามเงา ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ได้ข้อมูลจากการมอบหมายให้ อาจารย์มัตติกา ใจจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลชุมชน เดินทางไปสำรวจพื้นที่และวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่ ประกอบด้วย พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่อุทยานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทหารในพื้นที่ ได้ข้อมูลเบื้องต้นว่า

บริเวณหลังเขื่อนและพื้นที่โดยรอบมีประชากรโดยรวมประมาณ 35,000 คน ในพื้นที่นี้ นอกจากจะไม่มีสัญญาณโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่อยู่ในหมู่บ้านหลังเขื่อน ซึ่งมีจำนวน 2,051 คน ยังไม่มีสัญญาณโทรคมนาคมใด ๆ อยู่เลย และยังไม่มีระบบการส่งต่อสำหรับประชาชนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ส่งผลให้เกิดความล่าช้า ยากลำบาก และความเสี่ยงต่อผู้ป่วยและพยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งต่อ โดย เหตุการณ์จริงที่พบในพื้นที่ดังกล่าวคือ เมื่อประชาชนเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินและต้องรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานอยู่ใน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลประจำพื้นที่ ต้องใช้วิทยุสื่อสารเพื่อขอคำปรึกษาไปยังแพทย์ใน รพ.ชุมชนขนาดใหญ่ถึง 3 ต่อ และการตอบกลับ ก็ต้องใช้วิทยุสื่อสารอีก 3 ต่อเช่นกัน ทำให้เกิดความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล และเกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

และเมื่อต้องการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาใน รพ. ด้วยลักษณะของพื้นที่ยังไม่มีการคมนาคมทางบก วิธีการเดินทางเพื่อลำเลียงผู้ป่วยมีทางเดียวคือ การเดินทางทางน้ำ โดยใช้เรือลำเลียงของท้องถิ่นเท่าที่มีอยู่ ซึ่งใช้เวลาระหว่าง 1 ถึง 5 ชั่วโมง ตามสมรรถนะของเรือ เรือที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเรือหางยาว ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยระหว่างการลำเลียง และหากต้องทำการรักษาพยาบาลฉุกเฉินระหว่างการเดินทาง เช่นการนวดหัวใจ ยิ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือบางครั้งไม่สามารถกระทำได้



ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่จึงมีความเห็นพ้องว่า สิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่เมื่อเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินคือ ระบบการสื่อสาร และระบบการส่งต่อทางเรือที่มีประสิทธิภาพ และด้วยสัมพันธภาพที่เข้มแข็ง และความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ที่มีต่ออาจารย์มัตติกา ใจจันทร์ ทำให้ทุกคนในชุมชนยินดีให้ความร่วมมือและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา อาจารย์มัตติกา จึงสามารถนำผู้บริหารและวิศวกรชำนาญการจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เข้าไปร่วมประเมินความเป็นไปได้ในการติดตั้งระบบสัญญาณโทรคมนาคมในพื้นที่ และให้การสนับสนุนจัดตั้งระบบสัญญาณโทรคมนาคมเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพลและบริเวณใกล้เคียงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับเรื่องการส่งต่อ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้รับความอนุเคราะห์จาก ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผอ.ศูนย์วิจัยแห่งความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกสมาคมวิศวกรเครื่องกลไทย และที่ปรึกษาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวะกรรมเครื่องกล เข้าร่วมเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อยในการพัฒนาเรือฉุกเฉินต้นแบบที่นอกจากจะใช้ในการลำเลียงประชาชนแล้ว ยังมีวัสดุอุปกรณ์และเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินระหว่างการนำส่งด้วย

ความโดดเด่นของโครงการวิจัยนี้ คือ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชา ทั้งพยาบาลวิชาชีพใน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลและใน รพ.ชุมชน วิศวกร แพทย์ ทหารในพื้นที่ ผู้แทนอุทยาน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น นักอุทกศาสตร์ บริษัทเอกชนด้านการสื่อสาร และเป็นความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ อันจะทำให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งเป็นการร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนารูปแบบการบริการสุขภาพให้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ เห็นถึงความสำคัญของโครงการวิจัยเรื่องนี้มาก และได้กล่าวสรุปในการแถลงข่าวว่า ยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้บุคลากรของคณะพยาบาลศาสตร์ ได้ปฏิบัติงานวิจัยนี้สำเร็จอย่างราบรื่น เพราะผลลัพธ์ของงานวิจัยจะเกิดโครงการต้นแบบของการจัดระบบบริการและส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ ซึ่งสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ



ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชปณิธานของ ศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัย คือ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”