พบหลุมฝังรวมเหยื่อสังหารหมู่ กว่า 4,000 แห่งในบุรุนดี ประเทศทางภาคกลางของทวีปแอฟริกา หลังการสอบสวนของ คณะกรรมการข้อเท็จจริงและความปรองดอง หรือ ทีอาร์ซี (Truth and Reconciliation Commission) เพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ ในความขัดแย้งระหว่างชนเผ่า นับตั้งแต่บุรุนดีได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2505
ทีอาร์ซีซึ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2561 เผยว่า การสอบสวนจนถึงขณะนี้ สามารถระบุตัวตนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในบุรุนดีได้แล้ว 142,505 คน การสังหารหมู่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508, 2512, 2531 และปี 2536 โดยนักการเมืองหลายคนของบุรุนดีถูกกล่าวหา ยุงยงให้ชนกลุ่มน้อยชนเผ่าตุ๊ดซี่ เข่นฆ่ากับชนเผ่าฮูตู กลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ
นายปิแอร์-คลาแวร์ เอ็นดายีคาริเย ประธานทีอาร์ซี ซึ่งนำเสนอรายงานผลการสอบสวน ต่อที่ประชุมรัฐสภาบุรุนดี กล่าวว่า ยังมีหลุมฝังรวมอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ตรวจพบ เพราะประชาชนที่รู้จุดไม่กล้าเปิดเผย การค้นพบความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การให้อภัย ระหว่างกลุ่มผู้กระทำผิด และครอบครัวเหยื่อ
เมื่อวันจันทร์ (13 ม.ค.) ทีอาร์ซีเปิดหลุมฝั่งรวมแห่งหนึ่ง ในเมืองบูจูมบูรา ให้สื่อมวลชนได้ชม โดยหลุมนี้มีเหยื่อสังหารหมู่ถูกฝังรวม 270 ศพ ซึ่งเกิดขึ้นหลังการลอบสังหารนายเมลชวาร์ เอ็นดาดาเย ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของบุรุนดี และเป็นคนชนเผ่าฮูตู เมื่อปี พ.ศ. 2536 ซึ่งการสังหารนายเอ็นดาดาเยทำให้เกิดสงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ขนานใหญ่ ระหว่างชนเผ่าฮูตูกีบชนเผ่าตุ๊ดซี่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 คน ในระหว่างสงครามนาน 12 ปี.