กลุ่มเคลื่อนไหวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเผยว่า ในรอบปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา มีช้างป่าตายในศรีลังกามากเป็นประวัติการณ์ถึง 361 ตัว ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุด นับตั้งแต่ศรีลังกาได้รับเอกราชในปี 2491 โดยช้างที่ตายส่วนใหญ่ถูกมนุษย์ฆ่า
จากการปะเมินพบว่า ปัจจุบันมีช้างป่าอยู่ในศรีลังกาประมาณ 7,500 ตัว การฆ่าช้างป่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่สัตว์ประเภทนี้มักเกิดความขัดแย้ง กับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นชนบทบ่อยครั้ง
นายสาจีวา จามิการา นักสิ่งแวดล้อมของกลุ่มแนวร่วมปฏิรูปที่ดินและการเกษตร หรือ เอ็มแอลเออาร์ (Movement for Land and Agricultural Reform : MLAR) เผยว่า ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของการตายของช้างในปีที่แล้ว เกิดจากฝีมือมนุษย์ ชาวบ้านในชนบทขึงรั้วลวดหนามปล่อยกระแสไฟฟ้า วางยาพิษ หรือซุกซ่อนระเบิดในอาหาร เพื่อฆ่าช้าง
ช่างป่าจำนวนไม่น้อยตายเพราะถูกรถไฟชน และในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ช้างป่า 7 ตัวตายหมู่ ในเขตป่าสงวน การตรวจสอบพบว่าพวกมันถูกวางยาเบื่อ โดยชาวบ้านในพื้นที่ที่โกรธแค้น เนื่องจากพืชผลทางการเกษตรถูกบุกทำลาย
ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การบุกรุกพื้นที่ป่าของชาวชนบท เพื่อสร้างหมู่บ้านหรือผืนดินทำการเกษตรทำให้แหล่งอาหารและน้ำของช้างป่าลดน้อยลง และทำให้ช้างต้องออกมาหากินนอกป่า