นายกรัฐมนตรีส่งเสริมพัฒนาคนไทยยุคใหม่ (คลิป)

2020-01-13 13:50:12

นายกรัฐมนตรีส่งเสริมพัฒนาคนไทยยุคใหม่ (คลิป)

Advertisement

นายกฯเป็นประธานเปิดตัวโครงการยุวชนสร้างชาติ มอบโอวาท นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ ระบุส่งเสริมพัฒนาคนไทยยุคใหม่ แนะให้บ่มเพาะอาชีพ ช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศไปข้างหน้าอย่างเต็มศักยภาพ

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในงานพิธีเปิดตัวโครงการยุวชนสร้างชาติ และให้โอวาทต่อนิสิต นักศึกษา และคณาจารย์ผู้เข้าร่วมโครงการยุวชนสร้างชาติ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นาวนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา อาจารย์ นิสิต นักศึกษา สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานกว่า 500 คน โดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้กล่าวรายงานฃ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดงาน ความว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับช่วงระยะเปลี่ยนผ่านและต้องต่อสู้กับกระแสความผันผวนในหลากหลายมิติ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยพิบัติ ปัญหาความมั่นคง และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้คาดการณ์ถึงสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญและพิจารณาประเด็นความท้าทายเหล่านี้ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น รัฐบาลจึงกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย ให้มีทักษะทางวิชาการ ทักษะทางอารมณ์และสังคม รวมทั้งมีคุณธรรมจริยธรรม เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาคนให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างสมบูรณ์นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า โครงการยุวชนสร้างชาติถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ในฐานะกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคตได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ และถือเป็นโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจกัน เพื่อสร้างการพัฒนาสังคมเชิงคุณภาพ โดยอาศัยความรู้ความสามารถของนิสิตนักศึกษาและบัณฑิตใหม่ที่เข้าร่วมโครงการทุกคน ไปปรับใช้ในพื้นที่จริงตามชนบท และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากชาวบ้าน เพื่อนำมาผสมผสานกันก่อให้เกิดนวัตกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังเปรียบเสมือนการปฏิรูปการเรียนการสอนเดิมที่เน้นการบรรยายและทฤษฎี ไปเป็นการเรียนรู้จากชุมชน รวมทั้งถือเป็นโอกาสในการฝึกฝนเรียนรู้การปฏิบัติงานในพื้นที่จริงเพื่อขัดเกลาทักษะให้มีความพร้อมเมื่อสำเร็จการศึกษาต่อไป จึงขอให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมในโครงการ ทั้งนิสิตนักศึกษา สถาบันอุดมศึกษา และชุมชน ใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถก้าวเดินไปพร้อม ๆ กันอย่างมั่นคง

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนร่วมในโครงการยุวชนสร้างชาติ และกล่าวอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ทุกคนเคารพนับถือ ตลอดจนเดชะพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี โปรดบันดาลประทานพรให้ทุกคนประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีกำลังกาย กำลังใจและกำลังสติปัญญาที่สมบูรณ์พร้อม และขอให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเจตจำนงทุกประการ 

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานการแก้ไขปัญหาชุมชน ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากหนอนแมลงวันลาย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนด้วยเทคโนโลยี 4.0 มหาวิทยาลัยศรีปทุม โครงการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีอบพริกแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โครงการพัฒนาหมู่บ้านผ้าทอต้นแบบพื้นเมืองตามอัตลักษณ์ผู้ไทเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เครื่องช่วยวัดและวิเคราะห์สัญญาณสมอง วิเคราะห์ความเสี่ยงโรค มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการพัฒนาเกมส์จิตวิทยาเชิงวางแผน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวแนะให้คำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัย สินค้าและนวัตกรรมตอบโจทย์ผู้บริโภค และสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการยุวชนสร้างชาติ เป็นโครงการที่ส่งเสริมการผลิตคนไทยยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีคุณลักษณะ 3 ประการ ประกอบด้วย 1) มีความสามารถต่อยอดอดีต ตระหนักรู้ในวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย 2) มีจิตสำนึกสาธารณะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในมิติต่าง ๆ และ 3) มีศักยภาพเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการนำเอาทฤษฎีความรู้ที่หลากหลายปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง