สหรัฐยันไม่ถอนทหารออกจากอิรัก

2020-01-11 20:10:38

สหรัฐยันไม่ถอนทหารออกจากอิรัก

Advertisement


นายอาเดล อับดุล-มาห์ดี รักษาการนายกรัฐมนตรีอิรัก เรียกร้องให้สหรัฐส่งผู้แทนเจรจามายังอิรัก เพื่อพูดคุยเริ่มเตรียมการถอนกำลังทหารออกจากอิรัก โดยระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์ในช่วงดึกวันพฤหัสบดีกับนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายอับดุล-มาห์ดี เรียกร้องให้สหรัฐส่งคณะผู้แทนเจรจามายังอิรักเพื่อกำหนดกลไกปฏิบัติตามมติของรัฐสภาอิรักถอนกำลังทหารต่างชาติออกไปจากอิรักอย่างราบรื่น

ด้านกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ แถลงว่า จะไม่มีผู้แทนเจรจาของสหรัฐหารือเรื่องการถอนกำลังทหารสหรัฐ เพราะการประจำการทหารในอิรัก “เหมาะสมแล้ว” ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์ นิวส์ว่า หากอิรักต้องการให้สหรัฐถอนทหาร เขาจะบอกอิรักว่า “คุณต้องจ่ายเงินที่สหรัฐใช้ไปในภารกิจในอิรัก” ทรัมป์บอกว่า สหรัฐใช้เงินไป 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ



ปอมเปโอ กล่าวกับนักข่าวว่า คณะผู้แทนเจรจาขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต อยู่ในกรุงวอชิงตันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงอนาคตของภารกิจในอิรัก และแผนการแบ่งเบาภารกิจในภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศ แถลงอีกว่า ปอมเปโอได้หารือเรื่องอิหร่านกับนายฟรังซัว ฟิลลิฟ แชมเปญ รัฐมนตรีต่างประเทศแคนาดา และ “โอกาสสำหรับการขยายกองกำลังนาโตในอิรัก และการแบ่งปันภารกิจที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สหรัฐมีทหารประมาณ 5,200 นาย ประจำการอยู่ที่ฐานทัพทั่วอิรัก เพื่อสนับสนุนทหารท้องถิ่นป้องกันการกลับมาก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือไอเอส โดยทหารสหรัฐเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลอิรักขอร้องให้เข้ามาช่วยสู้รบกับกลุ่มหัวรุนแรงในปี 2557 การประจำการทหารดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งไม่ได้มีการให้สัตยาบันโดยรัฐสภาอิรัก แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา รัฐสภาอิรักลงมติสนับสนุนให้การเพิกถอนคำเชิญและถอนทหารต่างชาติทั้งหมดออกจากอิรัก



ด้านรัฐบาลสหรัฐปฏิเสธเมื่อวันศุกร์ ต่อข้อเรียกร้องของอิรักให้เตรียมถอนทหารออกไป ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน หลังสหรัฐลอบสังหารพลตรีกาเซ็ม สุไลมานี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่านในกรุงแบกแดด ประเทศอิรักเมื่อวันศุกร์ที่ 3 มกราคมที่ผ่านมาและสหรัฐยังบอกด้วยว่า จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการขอให้องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ส่งทหารเข้าไปในอิรักด้วย

อิรักอาจต้องรับภาระหนักสำหรับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นอีกระหว่างอิหร่าน ประเทศเพื่อนบ้าน และสหรัฐ บรรดาผู้นำอิรักกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เพราะสหรัฐและอิหร่านต่างก็เป็นพันธมิตรสำคัญของรัฐบาลอิรัก และต่างแก่งแย่งชิงดีในการขยายอิทธิพลในอิรัก

ทรัมป์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ฟ็อกซ์ นิวส์ว่า บางทีอิหร่านอาจวางแผนโจมตีสถานทูตสหรัฐในกรุงแบกแดด และมีจุดประสงค์โจมตีสถานทูตสหรัฐ 4 แห่ง เมื่อสุไลมานี ถูกลอบสังหารจากโดรน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรชุดใหม่ต่ออิหร่าน เมื่อวันศุกร์ เพื่อเป็นการตอบโต้การยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอิรัก 2 แห่ง ที่มีทหารสหรัฐประจำการอยู่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการกดดันศัตรูให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น



มาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ ถูกประกาศที่ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน โดยนายสตีเฟ่น มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และนายปอมเปโอ โดยนายมนูชิน กล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ จะออกคำสั่งทางการบริหาร คว่ำบาตรใครก็ตามที่เกี่ยวพันกับภาคโรงงานผลิต เหมืองแร่ การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของอิหร่าน ส่วนการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าจะประกาศแยกต่างหาก

นอกจากนั้นการคว่ำบาตรชุดใหม่ยังมีเป้าหมายเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอิหร่าน 8 ราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรม “บ่อนทำลาย” ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงการยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอิรัก 2 แห่งเมื่อวันที่ 8 ม.ค.

นายมนูชิน กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังสหรัฐจะยกเลิกการคว่ำบาตร เพื่อเปิดทางให้ชาวอเมริกันหรือใครก็ตาม เข้ามีส่วนร่วมในการสอบสวน หาสาเหตุการตกของเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800 สายการบินยูเครเนียน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ของยูเครน แถบชานกรุงกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่บนเครื่องเสียชีวิตทั้งลำรวม 176 ศพ



นายมนูชิน กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐพร้อมที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจอิหร่านหนักขึ้นอีก หากเตหะรานยังไม่เลิกเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย