ลุ้นระทึกชะตากรรม “ยิ่งลักษณ์”

2017-08-25 00:00:02

ลุ้นระทึกชะตากรรม “ยิ่งลักษณ์”

Advertisement

วันที่ 25 ส.ค.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษา 2 คดีสำคัญ  คือ คดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ กับพวกรวมทั้งหมด 28 ราย

และอีกหนึ่งคดีที่ต้องจับตาอย่ากระพริบ คือ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 ของประเทศไทยตกเป็นจำเลย โครงการนี้ใช้งบประมาณไปกว่า 9.5 แสนล้านบาท ขาดทุนประมาณ 5.39 ล้านบาท ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องเจอกับมรสุมชีวิตหลายระลอก 

เริ่มจาก 17 ก.ค.2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ชี้มูลความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ไม่ระงับ ยับยั้ง ปล่อยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน จนทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย และได้ทำสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นของ ป.ป.ช. สมควรสั่งฟ้องให้อัยการสูงสุด (อสส.)เพื่อทำสำนวนคดีส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง




23 ม.ค.2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว ด้วยคะแนนเสียง 190 ต่อ 18 ส่งผลให้ต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีด้วย

12 ก.พ.2558 ป.ป.ช. ทําหนังสือถึงกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวในคดีความรับผิดทางละเมิด



19 ก.พ.2558 คณะทำงาน อสส. นำโดย นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานสอบสวน นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

19 มี.ค.2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้อง พร้อมนัดวันพิจารณาคดีครั้งแรก19 พ.ค.2558 โดยมีมติเลือกนายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน

21 ก.ย.2559 นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง สรุปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเลยต่อหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหาย 2 โครงการ คือ โครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2555/2556 และปีการผลิต 2556/2557 เป็นเงิน 1.78 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องชดใช้ 20% ของมูลค่าความเสียหาย คิดเป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท นำไปสู่การอายัดเงินในบัญชีธนาคารในเวลาต่อมา



1 ส.ค.2560 น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีด้วยวาจา ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.2559 - 21 ก.ค. 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาลแม้แต่สักครั้งเดียว เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ไม่ได้เพิกเฉย ละเลย ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว พร้อมวิงวอนศาลพิพากษาคดีตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใด แม้แต่หัวหน้า คสช. ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐ  

ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ "นิว18" ว่า แนวทางการพิพากษาของศาลฯน่าจะต้องดูคดีแรกก่อน คือ คดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ดังนั้นพอจะสรุปได้ดังนี้ 1.กรณีนายบุญทรงกับพวกไม่ผิด หมายถึงศาลยกฟ้อง คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ต้องยกแน่นอนเช่นกัน แต่อัยการสามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้ภายใน 30 วัน 2.กรณีนายบุญทรงมีความผิดตามฟ้อง อาจมี 2 แนวทาง คือ 2.1. น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจจะไม่โดน เพราะไม่รู้ ไม่เห็น ไม่เกี่ยวข้อง ถ้าศาลเชื่อเช่นนั้นก็ยกฟ้อง หรือ 2.2. โดนด้วยกันเพราะพิสูจน์ได้ว่า รู้เห็นเป็นใจด้วย ศาลอาจพิพากษาจำคุก แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์สามารถยื่นขอประกันตัว และยื่นอุทธรณ์ได้ 3.มีการพูดกันมากว่า นายบุญทรงผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจจะไม่ผิด เนื่องจากเกิดขึ้นครั้งแรก มีการห้ามปรามไปแล้ว เคยมีคุณงามความดีในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี อาจพิจารณาโทษจำคุกโดยรอลงลาอาญา 4.น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ไปฟังคำพิพากษา ถ้าเป็นเช่นนั้นศาลจะเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป และออกหมายจับ


อย่างไรก็ตามวันที่ 25 ส.ค.ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะออกมาอย่างไร สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนทุกฝ่ายต้องเคารพ และควรปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม