สหรัฐ-อิหร่าน สงครามแน่แต่จะรูปแบบไหน?

2020-01-08 14:55:48

สหรัฐ-อิหร่าน สงครามแน่แต่จะรูปแบบไหน?

Advertisement

ประเมินจากท่าทีและจำนวนคนที่ไปร่วมพิธีศพนายพลกัสเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษคุดส์ ที่เตหะรานแล้ว สงครามเอาคืนของอิหร่านต่อสหรัฐ มีเกิดขึ้นแน่ๆ


เพียงแต่รูปแบบจะเป็นอย่างไรเท่านั้น ที่ยังต้องติดตาม และลุ้นระทึกกันต่อไป

ลำพังอิหร่าน จะหาญกล้าเปิดหน้าใช้ยุทโธปกรณ์ต่างๆที่กองทัพมีอยู่ เปิดศึกยิงถล่มเข้าใส่ประเทศสหรัฐอเมริกา คงมีให้เห็นได้ยากมาก เพราะเขี้ยวเล็บของสหรัฐนั้น มีมากกว่าและล้ำหน้ากว่าอย่างเห็นได้ชัด


ยังไม่นับกองกำลังและฐานที่มั่นทางทหารสหรัฐ ซึ่งมีเต็มพรึ่บทั่วทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกา และพื้นที่ใกล้เคียง หากสู้กันตามยุทธวิธีเก่าๆที่ห้ำหั่นกันมา อิหร่านจะราบเป็นหน้ากลอง ไม่ต่างจากสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2533-2534 ที่สหรัฐนำทัพพันธมิตรบุกขยี้อิรัก ภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซ็น ผู้นำจอมอหังการ์ของอิรักในขณะนั้น


อิหร่านเองก็คงตระหนักดีในเรื่องนี้ และช่วงร่วมยี่สิบปีที่ผ่านมา การขยายบทบาทของอิหร่านในภูมิภาคตะวันออกกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะอิรัก ซีเรีย หรือแม้แต่เลบานอน ผ่านกลุ่มนายพลโซไลมานี ที่ออกแบบยุทธวิธีที่ไม่เน้นตอบโต้สหรัฐโดยตรง แต่เลือกใช้สงครามตัวแทนสู้กับสหรัฐ ขณะเดียวกัน ได้เลือกใช้การประสานเจรจากับกลุ่มกองกำลังที่ต่อต้านสหรัฐเช่นกัน มีการวางแผนที่ดี ใช้จิตวิทยาเข้าช่วยเสริม สามารถทำให้ภารกิจบรรลุได้ โดยไม่ต้องใช้กองกำลังเข้าถล่มโจมตีอย่างเดียว แม้อาจต้องใช้เวลาบ้าง


นายพลโซไลมานี ยังมีความโดดเด่นเรื่องกระตุ้นปลุกเร้า สร้างพันธมิตรแบบซาบซึ้งใจกันไปอีกนาน กรณีสนับสนุนชาวอิรักรวมใจเป็นหนึ่งเดียวลุกขึ้นสู้กับกองกำลังไอเอสที่หวังบุกยึดครองแบกแดดและอิรักเป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนารัฐอิสลาม จนแตกพ่ายย่อยยับ และต้องเสียคืนพื้นที่ยึดครองซึ่งเคยกว้างขวางมาก ทั้งในอิรัก ซีเรีย และอาฟกานิสถาน เมื่อปี 2560




รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า สหรัฐกับอิหร่านมีอาการกินแหนงแคลงใจกันมานาน โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นักศึกษาอิหร่านบุกยึดสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน จับตัวประกัน 52 คน เมื่อปี 2522 เนื่องจากไม่พอใจรัฐบาลสหรัฐ ที่อ้าแขนรับการลี้ภัยของพระเจ้าซาห์ ปาห์เลวี

เหตุการณ์ครั้งนั้น ยืดเยื้อถึง 444 วัน พร้อมเหตุการณ์ชวนขายหน้าของสหรัฐเมื่อปฏิบัติการหวังยึดคืนสถานทูตกลับระหว่างนั้น ต้องสูญเสียทหาร 8 คนแทน

จากนั้น ได้มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกล่าวหากันต่อเนื่องเรื่อยมา อาทิ การโจมตีเครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐ การถล่มโรงกลั่นน้ำมันโดยใช้โดรนที่มีความแม่นยำสูง การยิงใส่กองเรือสินค้าที่สหรัฐเป็นผู้คุ้มกัน รวมทั้งความชุลมุนจากการชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐในอิรัก เป็นต้น

เหตุการณ์เหล่านี้ สหรัฐพยายามกล่าวหาว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ท่ามกลางการออกโรงปฏิเสธของอีกฝ่าย ทำให้น้ำหนักข้อกล่าวหาของสหรัฐดูจะไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าใดนัก ไม่ต่างจากสงครามอ่าวเปอร์เซียรอบ 2 ที่พยายามกล่าวหาว่าอิรักมีขีปนาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่มีหลักฐานยืนยันไม่มีเช่นเคย

รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตากรณีสหรัฐกับอิหร่านรอบนี้ คือปฏิบัติการระยะกลาง หรือระยะ ที่ 2 ทั้งปฏิบัติตามลำพังในสหรัฐและประเทศตัวแทน /การก่อการร้ายสมัยใหม่ เช่นจับตัวประกัน วางระเบิด ตามศุนย์การค้า โรงพยาบาล โรงแรม /จี้เครื่องบิน หรือลอบสังหารผู้บริหารระดับสูงรวมถึงการใช้วิธีใหม่ๆ

"นอกจากในตะวันออกกลางแล้ว หลายประเทศในยุโรปก็เคยกลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการตอบโต้สหรัฐและพันธมิตร อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เยอรมัน สเปน นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง"นักวิชาการจากรัฐศาสตร์จุฬาฯอธิบายความหมายและแผนปฏิบัติการระยะกลางหรือระยะที่ 2 เพิ่มเติม

ส่วนในระยะยาว ให้จับตาดูท่าทีของอิหร่านอย่างใกล้ชิด หลังแสดงท่าทีต้องการออกจากสนธิสัญญาไม่เผยแพร่นิวเคลียร์ ซึ่งหากเป็นจริง และหันไปเพิ่มสมรรถภาพการใช้แร่ยูเรเนียมสะสมเกินกว่า 20% จะทำให้มีการพัฒนาสู่อาวุธนิวเคลียร์ จนมีสถานะไม่ต่างไปจากเกาหลีเหนือ และจะทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางยิ่งร้อนระอุ

รศ.ดร.ปณิธาน สรุปในตอนท้ายว่า สิ่งที่ผู้คนหวั่นเกรงจะลุกลามบานปลายถึงขั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 คงจะยังไกลเกินไป เพราะอิหร่านเองก็มีศัตรูอยู่เยอะ รวมทั้ง ซาอุดิอาระเบีย และอิสราเอล ทำให้โอกาสที่จะรวบรวมทุกประเทศในตะวันออกกลางให้ไปร่วมรบกับสหรัฐเป็นไปได้ยากมาก แต่อาจได้รับความเห็นใจจากหลายประเทศ และการตอบโต้กลับในรูปแบบต่างๆอย่างที่กล่าว

แต่ที่แน่ๆ อิหร่านกับสหรัฐ คงก้าวข้ามเส้นแบ่งที่จะกลับมาญาติดีกันแล้ว แม้จะมีบางประเทศพยายามจะทำหน้าที่คนกลางในการเจรจาทำความเข้าใจกัน

คำกล่าวทิ้งท้ายที่ว่า ทั้งคู่เข้าสู่บริบทใหม่ในวงจรความขัดแย้งรูปแบบใหม่ ดูจะยิ่งทำให้มองภาพเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาชัดแจ้งยิ่งขึ้น