จับตาความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน ลามเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ?

2020-01-05 10:30:04

จับตาความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน ลามเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ?

Advertisement

การสังหารพลตรีกาเซม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ ซึ่งเป็นสาขาของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน หนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลที่สุดในอิหร่านเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม ช่วยสุมไฟความขัดแย้งให้ขยายวงกว้างระหว่างสหรัฐและอิหร่าน และผลกระทบอาจเลวร้าย เพราะคาดว่าจะต้องมีการ “แก้แค้น” ซึ่งแน่นอนว่าอาจนำ 2 ประเทศนี้ขยับเข้าใกล้การเผชิญหน้ากันโดยตรง อนาคตของสหรัฐในอิรัก อาจมีปัญหา และยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ จะถูกทดสอบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เขาถูกสังหารพร้อมกับนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดีส ผู้บัญชาการนักรบหัวรุนแรงของอิรัก ที่มีอิหร่านหนุนหลัง ซึ่งชายทั้ง 2 คน ถูกมองว่าเป็นวีรบุรุษในการต่อสู้กับศัตรู ที่แม้แต่สถานีโทรทัศน์ของอิหร่าน ก็เสนอข่าวยกย่องชื่นชมทั้ง 2 หลังรายงานข่าวการเสียชีวิต

โซเลมานี คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยอิหร่านทำสงครามตัวแทนทั่วตะวันออกกลาง โดยเป็นคนสร้างแรงบันดาลใจให้นักรบที่อยู่ในสมรภูมิ และคอยเป็นคนเจรจากับบรรดาผู้นำทางการเมือง การสังหารเขาจึงเป็นการขยายความตึงเครียดครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐและอิหร่าน




กองกำลังคุดส์ เป็นส่วนหนึ่งกองกำลังรักษาความมั่นคงของอิหร่าน มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจด้านการทหารในต่างประเทศขึ้นตรงต่ออยาตอลลาห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของประเทศคนเดียวเท่านั้น เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในเลบานอน, อิรัก, ซีเรีย หรือที่อื่น ๆ โซเลมานี คือผู้บงการสำคัญในการขยายและส่งเสริมอิทธิพลของอิหร่านผ่านการวางแผนโจมตี หรือให้การสนับสนุนพันธมิตรของอิหร่านในแต่ละประเทศ เพื่อเป็นแขนเป็นขาให้อิหร่าน

สหรัฐประกาศให้กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน เป็นองค์การก่อการร้ายต่างชาติในปี 2562 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์กดดันในระดับสูงสุดเพื่อบีบให้อิหร่านเปิดการเจรจาโครงการขีปนาวุธและนโยบายนิวเคลียร์



สหรัฐมองว่า โซเลมานีคือคนที่มือเปื้อนเลือดชาวอเมริกัน แต่ในทางตรงกันข้าม เขากลับได้รับความนิยมอย่างสูงในอิหร่าน และในด้านการปฏิบัติหน้าที่แล้ว เขาเป็นผู้นำของอิหร่านในการตอบโต้แรงกดดันของต่างชาติและมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐบังคับใช้ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดใจแต่อย่างใด หากโซเลมานี จะอยู่ในความสนใจของประธานาธิบดีทรัมป์และอิสราเอลด้วย นั่นจึง็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสหรัฐเลือกโจมตีเขาโอกาสเป็นใจ

การโจมตีด้วยจรวดต่อฐานทัพสหรัฐในอิรักหลายครั้ง เชื่อว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน มีผู้รับเหมาพลเรือนสหรัฐคนหนึ่งเสียชีวิต แต่ก่อนหน้านี้ การปฏิบัติการของอิหร่านในการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย, การยิงอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรนของสหรัฐลำหนึ่ง หรือแม้แต่การโจมตีครั้งใหญ่ต่อโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย ทั้งหมดล้วนแต่ยังไม่ได้ถูกตอบโต้โดยตรงจากสหรัฐ แค่สหรัฐเก็บเอาไว้ในใจเท่านั้น

จนกระทั่งมีการยิงจรวดโจมตีฐานทัพสหรัฐในอิรัก กระทรวงกลาโหมสหรัฐจึงตอบโต้ถล่มกลุ่มหัวรุนแรงที่เชื่อว่ามีอิหร่านหนุนหลัง สมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงเสียชีวิตไปหลายสิบคน จุดชนวนให้เกิดความโกรธแค้น จนมีการบุกเผาและโจมตีสถานทูตสหรัฐในกรุงแบกแดด



ในการอธิบายถึงการตัดสินใจสังหารโซเลมานี กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะสะสางบัญชีแค้นจากการกระทำในอดีตของโซเลมานีเท่านั้น แต่ยืนยันด้วยว่า การโจมตีครั้งนี้ เพื่อเป็นการหยุดยั้งการโจมตีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ในแถลงการณ์ของเพนตากอน บอกว่า พลตรีโซเลมานี กำลังวางแผนโจมตีนักการทูตและทหารสหรัฐในอิรักและทั่วภูมิภาค

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือคำถามใหญ่ ระดับ bid question สำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ แทบไม่ต้องคิดเลยว่า จะไม่มีการตอบโต้อย่างรุนแรงจากอิหร่าน แม้จะไม่เกิดขึ้นในทันที

มีความเป็นไปได้มากที่ทหารสหรัฐ 5,000 นายที่ประจำการอยู่ในอิรัก จะตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของอิหร่านเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ความตึงเครียดจะเพิ่มสูงขึ้นในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่ผลกระทำเบื้องต้น คือราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น



แน่นอนสหรัฐและพันธมิตรจะต้องมองหามาตรการป้องกันตนเอง ซึ่งทางรัฐบาลวอชิงตัน ก็ส่งทหารจำนวนเล็กน้อยเข้าประจำการที่สถานทูตในกรุงแบกแดด และยังมีแผนเพิ่มกำลังทหารเข้าตะวันออกกลางโดยเร็วหากจำเป็น ซึ่งล่าสุด ส่งเพิ่มอีก 3,000 นาย

แต่ที่เป็นไปได้ในการตอบโต้ของอิหร่าน อาจมาในรูปแบบที่ อิหร่านใช้ตัวแทนที่มีอยู่มากมายหลายกลุมในภูมิภาค ซึ่งโซเลมานีสร้างไว้ และให้เงินทุนสนับสนุน อิหร่านอาจปลุกกระแสให้เกิดการประท้วงและปิดล้อมสถานทูตสหรัฐในกรุงแบกแดดอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลอิรักอยู่ในฐานะที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก และทำให้เกิดคำถามว่า สหรัฐจะอยู่อย่างไรในอิรัก หรือไม่ก็อาจกระตุ้นให้เกิดการประท้วงในที่อื่น ๆ พร้อม ๆ กับการโจมตี

แต่การโจมตีผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงประสิทธิภาพและความสามารถของหน่วยข่าวกรองทหารสหรัฐ แต่สิ่งที่ทำลงไปนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ฉลาดที่สุดสำหรับประธานาธิบดีทรัมป์หรือไม่?

ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า การสังหารโซเลมานี เป็น "การประกาศสงคราม" กับอิหร่านของสหรัฐ แต่ก็มีการวิเคราะห์กันต่อว่า ไม่น่าจะถึงกับกระตุ้นให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะผู้เล่นสำคัญ ซึ่งอาจเข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งเช่นนี้ ช่นรัสเซียและจีน ก็ไม่ได้เป็นผู้เล่นสำคัญใน "ดราม่า" ครั้งนี้ จนต้องพาตัวเองกระโจนเข้าสู่ความขัดแย้ง



แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ติดตามกันตอนต่อไป