คพ.เตือนรับมือ PM2.5 สูงขึ้น รถกลับเข้า กทม.หลังปีใหม่

2020-01-03 10:35:48

คพ.เตือนรับมือ PM2.5 สูงขึ้น รถกลับเข้า กทม.หลังปีใหม่

Advertisement

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษประสานหน่วยงานต่าง ๆ เตรียมพร้อมรับมือ PM2.5 คาดว่าจะสูงขึ้นตามปริมาณยานพาหนะที่กลับเข้าสู่ กทม. หลังเทศกาลปีใหม่

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 5 ม.ค. 2563 ความกดอากาศสูงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้กทม.และปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10 - 25 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งลักษณะดังกล่าว อาจสามารถช่วยบรรเทาการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 ได้ สำหรับในระหว่างวันที่ 6-9 ม.ค. 2563 ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ลมอ่อนหรือสงบในช่วงเช้า ประกอบกับ รถยนต์ได้กลับเข้ามา กทม.หลังจากหยุดในช่วงปีใหม่ในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลทำไมปริมาณสะสมของฝุ่นละอองสูงขึ้น จะเป็นสาเหตุทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นไปด้วย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับและให้ คพ. ประสานงาน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆได้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ในการป้องกันและลด มลภาวะฝุ่น PM 2.5 อย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองที่อาจเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากการเดินทางกลับเข้าสู่ กทม.ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ และต้นสัปดาห์หน้า

นายประลอง กล่าวต่อว่า ศูนย์ประสานงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองและหมอกควัน คพ. (ศปฝ.คพ) จึงได้เร่งประสานงาน หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งได้มีการประสานงานภายกับเจ้าหน้าที่ ที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน ขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง และปฏิบัติการตามที่ได้หารือในการประชุมคณะอนุกรรมการ กำกับดูแลการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 จากแหล่งกำเนิดทั้งจากยานพาหนะ การเผาในที่โล่ง และจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมตลอดช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันปัญหาฝุนละออง PM2.5 ซึ่งคาดว่าจะสูงขึ้นตามปริมาณยานพาหนะที่จะกลับเข้าสู่ กทม. ในระหว่างวันที่ 2-6 ม.ค. 2563 ทั้งนี้ ศปฝ.คพ. จะติดตามสถานการณ์และประสานงานหน่วยงานต่างๆ ในการดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อลดผลกระทบจากการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงเวลาดังกล่าว