กมธ.กฎหมายเชิญ ตร.แจง "วิ่งไล่ลุง" ยังไม่ชัดจัดได้หรือไม่

2019-12-25 18:55:12

กมธ.กฎหมายเชิญ ตร.แจง "วิ่งไล่ลุง"  ยังไม่ชัดจัดได้หรือไม่

Advertisement

กมธ.กฎหมายเชิญ ตร.แจงกรณี "วิ่งไล่ลุง" ยังไม่ชัดจัดได้หรือไม่ ด้าน "บอล ธนวัฒน์" ยันไม่เลื่อน 12 ม.ค.63 ยังคงวิ่ง

เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษากรณีการใช้อำนาจในการแทรกแซงการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวงานวิ่งไล่ลุง โดยเชิญ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเข้ามาชี้แจง แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการมาแทน โดยอ้างว่าติดภารกิจ ซึ่งก่อนเริ่มซักถาม ทำให้ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมต้องชี้แจงว่า เรื่องที่พิจารณาเกี่ยวเกี่ยวกับเรื่องบังคับใช้นโยบาย ซึ่งคือ ผบ.ตร. หรือ ผบ.ชน. ไม่ใช่แค่เรื่องจราจรตามที่ส่งเจ้าหน้าที่มาเท่านั้น

ด้าน นายวิบูลย์ แช่มชื่น ที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า 1.การเชิญเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง เป็นเรื่องฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายบริหาร เราควรเชิญผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง หรือผู้กำกับนโยบายว่าการปฏิบัตินั้น ให้หรือไม่ให้ อนุญาตหรือไม่ นี่คือหลักการที่ต้องยึดถือ และ 2.ให้นำเรื่องนี้ปรึกษา กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร ให้ปฏิบัติเป็นหลักการว่า ขอให้เชิญผู้ที่ตัดสินใจนโบาย หรือตัดสินใจแทนในหน่วยงานนั้นได้มาชี้แจง และถ้ามาไม่ได้ ต้องชี้แจงเหตุผลกลับมา หรือคนที่มาแทนสามารถตัดสินใจในเรื่องนโยบายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีระดับผู้กำหนดนโยบายหรือตัดสินใจได้มาร่วมชี้แจง แต่ประธาน กมธ.ก็ได้เปิดโอกาศให้ กมธ. ที่ปรึกษา รวมถึงผู้รับร้องเรียนได้สอบถาม ทั้งนี้ ในช่วงก่อนการประชุม นายศิระ เจนจาคะ รองประธาน กมธ. ไม่อยากให้มีการไลฟ์สด แต่ที่ประชุมยึดถือตามที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ประธาน กมธ. ได้เคยอนุญาต และเคยปฏิบัติมาแล้ว จึงให้มีการไลฟ์สดให้ประชาชนทั่วไปรับฟังการประชุมพิจารณาได้ ทั้งนี้ การประชุมผ่านไประยะหนึ่ง นายศิระจึงได้ลุกออกจากห้องประชุมไป และกลับมาในช่วงท้ายๆ ของการประชุมและพยายามขอให้ประธาน มีข้อยุติเรื่องนี้เพื่อเข้าสู่วาระพิจารณาเรื่องอื่น

นายรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ. แถลงข่าวภายหลังการพิจารณาว่า เรื่องนี้มาจากการร้องของผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ให้ตรวจสอบ ข้อเท็จจริงการแถลงข่าวทั้งที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และโรงแรมรัตนโกสินทร์ซึ่งจัดไม่ได้ รวมถึงการที่ผู้จัดกิจกรรมถูกคนติดตามซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่ ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย และนอกจากนี้มีการพูดในสื่อว่า การจัดกิจกรรมไม่สามารถทำได้ จึงให้ผู้ร้องมายัง กมธ. เพื่อตรวจสอบการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจากการซักถาม การเตรียมแถลงข่าวว่าเจ้าหน้าที่มีการข่มขู่ คุกคามหรือไม่ เจ้าหน้าที่ยืนยันเข้าไปพูดคุยขอข้อมูล และบอกว่าไม่มีเรื่องผิดกฎหมาย และอย่างที่รู้คือไม่มีแถลงข่าวเกิดขึ้น และมีหนังสือแถลงออกมาว่าไม่ให้จัด

"ถามว่าวิ่งไล่ลุงจัดได้ไหม เจ้าหน้าที่บอกว่ามีหลักเกณฑ์ตำรวจกำหนด เป็นหลักเกณฑ์ที่ยกเว้นได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ มีคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาว่าอย่างไร ซึ่ง กมธ. ได้ขอร้องให้ตำรวจและผู้ร้องไปปรับความเข้าใจ เนื่องจากถ้าจัดไม่ได้ จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพประชาชน เพราะการใช้ดุลยพินิจต้องคิดเสมอว่า กระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ได้ เพราะอาจเข้าข่ายความผิด ป.อาญา มาตรา 157 มีความผิดได้ ซึ่งวันนี้ กมธ.ถามว่า ผู้ร้องสามารถจัดกิจกรรมได้หรือไม่ คำตอบคือยังไม่ชัดเจน" นายรังสิมันต์ กล่าว

ด้าน นายพนัส ทัศนียานนท์ ที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเลยด้วยซ้ำในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ซึ่งตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ประเทศที่รับรองอย่างแท้จริง การแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ การบริหารราชการรัฐบาลสามารถกระทำได้ บางแห่งไปไกลถึงขั้นว่าแสดงความไม่พอใจหรือต่อต้านการกระทำรัฐบาลได้ แต่เท่าที่ได้ฟังการชี้แจงในวันนี้ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ การชี้แจงยังไม่ชัดเจน มีนัยที่ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่มีความรู้สึกว่า การแถลงข่าวก็ดี หรือการวิ่งไล่ลุงก็ดี ถ้าหากการแสดงออกผิดกฎหมาย เขาจะมีอำนาจเข้าไปจัดการไม่ให้มีการกระทำนั้นเกิดขึ้น

"เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกเลยว่า รับผิดชอบเรื่องความมั่นคง ซึ่งเขาให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงมากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน เหตุจำเป็นที่ต้องทำ อ้างเป็นห่วงเรื่องความปลอดถัย เป็นห่วงว่าจะเกิดความวุ่นวาย ซึ่งชัดเจนเป็นการมองว่า การใช้สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องล่อแหลมที่จะไปกระทบกับความมั่นคงโดยความหมายของเขา แต่สำหรับผมตีความได้ว่า ความมั่นคงของเขา คือ คุณทำอะไรไม่ได้ที่เป็นการต่อต้านรัฐบาล ถ้าทำ จะมีกฎหมายมาตราหนึ่ง ซึ่งก็ยังได้คำตอบไม่ชัดว่าคืออะไร อย่างที่บอกว่า การแถลงข่าวไม่ผิด แต่ถามว่าที่ผิดคืออะไรก็ไม่บอก อ้างแต่เพียงว่ามีหน้าที่ดูแลความมั่นคง" นายพนัส กล่าว

น.ส.พรรณิการ์ วานิช รองประธาน กมธ. กล่าวว่า เห็นใจเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงาน แต่ที่ กมธ.ขอคำชี้แจงวันนี้คือเรื่องระดับนโยบาย การตัดสินใจ เราถามว่าตกลงจัดงานแถลงข่าวไม่ได้ มีใครกดดัน แทรกแซง หรือใช้กฎหมายข้อไหน รวมถึงสำคัญสุดคือ กิจกรรมวิ่งไล่ลุงนั้นจะจัดได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ผิดกฎหมายข้อไหน และและเจ้าหน้าที่มีท่าทีอย่างไรต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต แต่ข้อเท็จจริงที่เราอยากรู้ ต้องเป็น ผบ ตร ตกลงตำรวจมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน อำนวยความสำดวกกิจกรรมที่เป็นตามกฎหมาย ท่าทีของท่านคืออะไร ตำรวจที่มายืนยันแล้วว่า เป็นการกระทำถูกต้อง กฎหมาย ตำรวจไม่ได้มีแค่ปล่อยให้งานเกิด แต่คุ้มครองให้งานตลอดรอดฝั่ง ปลอดภัยด้วย วันนี้ เราไม่ได้คำตอบ

ด้าน นายธนวัฒน์ วงค์ไชย นักกิจกรรมทางการเมือง ในฐานะคณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับคำตอบตำรวจ เพราะเหมือนไม่ได้คำตอบ ไม่ได้สร้างความชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามถือว่าได้เปิดพื้นที่เจรจากัน ตำรวจค่อนข้างเปิดว่าจะมีการเจรจาหารือหลังจากนี้ ส่วนวันที่ 12 ม.ค. นี้ คงต้องมีการเปลี่ยนสถานที่ ซึ่งต้องรอความชัดเจนอีกที แต่อย่างไรก็ตามงานของเรายืนยันจัด 12 ม.ค.เหมือนเดิม อยากให้จับตาเจ้าหน้าที่ เพราะนอกจากตำรวจแล้ว วันนี้กองทัพ คือ ผบ.ทบ. หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีก็มีการพูดถึงเรื่องนี้ เกรงว่าจะมีการใข้กลไกของรัฐในการแทรกแซงงาน อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนวิ่งไล่ลุงรอบ 2 กำลังจะเริ่ม อยากให้ติดตาม เพราะจะเปิดเป็นนาทีทองเพียงไม่กี่ชั่วโมง เต็มแล้วเต็มเลย คนที่ลงทะเบียนไม่ทัน ก็สามารถมาร่วมเป็นกองเชียร์นักวิ่งได้