108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ: ไวรัส RSV เชื้ออันตรายที่คล้ายไข้หวัด

2017-08-22 16:55:19

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ: ไวรัส RSV เชื้ออันตรายที่คล้ายไข้หวัด

Advertisement

ไวรัส RSV ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1956 หรือ พ.ศ.2499 โดยตรวจพบไวรัสชนิดนี้จากลิงชิมแปมซีที่ป่วยจากหวัดก่อนจะพบว่าสามารถติดต่อมายังคนได้ และเป็นสาเหตุของอาการหรือโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก

การติดเชื้อไวรัสนี้ยังเป็นปัญหาที่สำคัญในเด็ก ไวรัส RSV ทำให้มีอาการที่รุนแรงได้โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อย เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่ดี และทางเดินหายใจของเด็กเล็กก็ยังมีขนาดเล็กอยู่ ทำให้เมื่อเป็นโรคจึงมีโอกาสเกิดการตีบตันของทางเดินหายใจได้มากกว่า ในเด็กกลุ่มนี้เชื้อไวรัสนี้มักจะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมฝอยเล็กๆ ทำให้เกิดการตีบตันของทางเดินหายใจ หรืออาจทำให้เกิดการอักเสบในปอดเกิดภาวะปอดบวมขึ้น ทั้ง 2 ภาวะนี้ทำให้เด็กเล็กมีอาการหายใจหอบ ถ้าเป็นมากจนทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซลดลง เด็กก็อาจจะมีอาการตัวเขียวตามมาได้ ในผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นได้เช่นกันแต่อาจจะรู้สึกเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดาคือ ไอ มีน้ำมูกเล็กน้อย ไม่มีไข้

เชื้อไวรัส RSV มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน ซึ่งการที่มีความชื้นทำให้มีการแพร่ของเชื้อได้ง่ายขึ้น การติดต่อของไวรัส RSV มีลักษณะคล้ายการติดต่อของไข้หวัด คือ สามารถติดต่อจากผู้ป่วยคนหนึ่งไปยังผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้ แต่คนที่รับเชื้อเข้าไปบางคนอาจจะไม่แสดงอาการออกมาซึ่งขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน ไวรัส RSV สามารถติดต่อได้จากน้ำลาย ละอองเสมหะของเด็กที่ป่วยและไอออกมา นอกจากการแพร่กระจายจากผู้ที่มีเชื้อแล้ว อาจจะติดจากการไปสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำลายของผู้มีเชื้อผู้ปกครอง พี่เลี้ยงที่สัมผัสเด็กป่วย ก่อนจะไปสัมผัสเด็กคนอื่นควรล้างมือทุกครั้งก่อนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายจากเด็กคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง

จากการที่เชื้อไวรัสชนิดนี้มีอาการคล้ายไข้หวัดจนแทบจะแยกไม่ออก จึงต้องสังเกตบุตรหลานของท่านว่าหากมีอาการเหล่านี้ ก็แปลว่าอาจจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงได้
1. ตัวเขียว
2. ไอมาก
3. หอบเหนื่อย
4. หายใจ เร็ว แรง หรือมีการหยุดหายใจ



5. มีเสมหะมาก

นอกจากนี้ยังวิธีสังเกตง่ายๆคือ หากเด็กมีอาการซึมลง เช่น เคยกินนมเก่งแล้วอยู่ๆกินน้อยลง อารมณ์ไม่ดีเหมือนปกติ หายใจแรงจนหน้าอกบุ๋ม ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งแพทย์อาจให้การรักษาโดยการพ่นยา ดูดเสมหะหรือจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ผู้ป่วยที่มักจะมีอาการรุนแรงได้แก่เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ป่วยที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจเรื้อรัง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่เป็นรุนแรงอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เกิดขึ้นเช่น ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ถ้ามีอาการรุนแรงจนปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
ไวรัสชนิดนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังไม่มียารักษาจำเพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคองรอให้ร่างกายแข็งแรงจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้ ที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้ติดโรค ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส ผู้ปกครองควรหมั่นล้างมือก่อนไปจับตัวเด็ก ผู้ที่ไม่สบายเป็นหวัดไม่ควรเข้าไปเล่นกับเด็กอย่างใกล้ชิด ผู้ใหญ่เวลาไม่สบายเป็นหวัดและจำเป็นต้องดูแลเด็กควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่เด็ก




อ. ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล