“ลูกกวาดไม้เท้า” เติมความหวาน เทศกาลคริสต์มาส

2019-12-25 07:05:35

“ลูกกวาดไม้เท้า” เติมความหวาน เทศกาลคริสต์มาส

Advertisement

หนึ่งในสัญลักษณ์ที่เรามักเห็นเจนตาในเทศกาลคริสต์มาสนั้น นอกจากจะเป็นของขวัญกล่องเล็กๆ กระดิ่งคริสต์มาส พวงมาลัยคริสต์มาส หรือจะเป็นถุงเท้าคู่สีแดงน่ารักๆ แล้ว “ลูกกวาดรูปไม้เท้า” สีขาวคาดแดง ก็ดูเหมือนจะเป็นอีกสัญลักษณ์ยอดนิยมที่จะขาดเสียไม่ได้ในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้ โดยลูกกวาดรูปร่างเก๋ดังกล่าวมีที่มาอย่างไร เกี่ยวข้องกับวันคริสต์มาสอย่างไร ไปพบคำตอบกันเลย

ตามตำนานเล่าว่า เจ้าลูกกวาดไม้เท้านั้น ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 350 ปีก่อนมาแล้ว โดยขณะนั้นลูกกวาดมักจะทำมาจากน้ำตาลที่เคี่ยวเป็นแท่งสีขาว (คล้ายตังเมในไทย) ขณะเดียวกันในช่วงศตวรรษที่ 17 ชาวคริสต์ในยุโรปได้เริ่มนำต้นคริสต์มาสมาเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองเทศกาลประสูติของพระเยซู

หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการนำของขวัญ คุกกี้ ขนมหวาน ช็อกโกแลต มาประดับไว้ตามต้นคริสต์มาส เพื่อเป็นของขวัญให้กับเด็ก ๆ และให้ต้นคริสต์มาสมีสีสันที่สวยงามมากขึ้น ลูกกวาดแท่งสีขาวอันเป็นขนมที่เด็กๆ โปรดปรานจึงได้รับเลือกเป็นหนึ่งในของที่นำมาประดับต้นคริสต์มาส




ในปี ค.ศ. 1670 คณะนักร้องประสานเสียงในโบสถ์ที่เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนีได้นำลูกกวาดแท่งยาวสีขาว มาโค้งงอให้เป็นรูปไม้เท้า เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนคนเลี้ยงแกะที่เป็นพยานหนึ่งในการประสูติของพระเยซู พร้อมกับนำไปแจกให้กับเด็กๆ ระหว่างที่กำลังมีพิธีในค่ำคืนคริสต์มาสอีฟ

สำหรับรสเปเปอร์มินต์ ซึ่งเป็นรสชาติดั้งเดิมของลูกกวาดแบบแท่ง และลายสลับสีแดง พบเป็นครั้งแรกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ประเทศสวีเดน ขณะที่ลูกกวาดไม้เท้าลวดลายสีขาวแดงเพิ่งจะมีมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นี่เอง



อย่างไรก็ตามไม่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ทำไมลูกกวาดไม้เท้าจึงมีสีขาวแดง แต่มีการบันทึกไว้ว่าไม้เท้ารสหวานนี้เป็นสัญลักษณ์ลับที่ชาวคริสต์จะนำมาใช้เมื่อมีเรื่องลำบากใจ เนื่องจากไม้เท้านั้นมีลักษณะคล้าย “J” ตัวอักษรในภาษาอังกฤษ ที่ย่อมาจากพระนามของพระเยซู

ส่วนสีขาวแดงคือ ความบริสุทธิ์และพระโลหิตแห่งพระคริสต์ และหากเป็นลูกกวาดไม้เท้าแบบดั้งเดิมจะมีลายสีแดง 3 ลาย ซึ่งเป็นตัวแทนของพระบิดา พระบุตร และพระจิต ขณะที่ความแข็งของลูกกวาดเป็นตัวแทนของชาวคริสต์ที่จะรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเข้มแข็ง ขณะที่รสมินต์นั้นเป็นตัวแทนของสมุนไพรโบราณที่มักจะใช้เป็นสัญลักษณ์อ้างถึงพระคัมภีร์เก่านั่นเอง