รองโฆษก พปชร.ลงพื้นที่ชวนชุมชนเก็บขยะ

2019-12-22 08:45:31

รองโฆษก พปชร.ลงพื้นที่ชวนชุมชนเก็บขยะ

Advertisement

รองโฆษก พปชร.ลงพื้นที่ ชวนชุมชนเก็บขยะ ป้องกันน้ำท่วม เชื้อโรคต่างๆ เน้นกิจกรรมสร้างสรรค์ ดีกว่าถูกบางพรรคหลอกใช้เพาะเชื้อความแตกแยกเกลียดชัง

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตจอมทอง-ธนบุรี กล่าวว่า ตนได้จัดกิจกรรม "ฝั่งธนดีกว่านี้ได้ #FutereLAB Thonburi" เพื่อรณรงค์ช่วยกันเก็บขยะเพื่อรักษาความสะอาดในชุมชน ที่ชุมชนวันโพธิ์ทอง เขตจอมทอง เนื่องจากพบว่าปัญหาขยะในคูคลอง ที่เก็บได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณถึง 387,261 ตัน โดยในปี 2558 พบขยะ 88,752 ตัน ปี 2559 พบขยะ 69,726 ตัน ปี 2560 พบขยะ 132,374 ตัน ปี 2561 พบขยะ 49,902 ตัน ปี 2562 พบขยะ 46,507 ตัน แม้สถานการณ์ 2 ปีหลังนี้จะพบสัญญาณที่ดี ปริมาณขยะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ 3 ปีก่อน แต่ก็ยังอยู่ในปริมาณที่สูง นอกจากทำลายระบบนิเวศน์ เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาภาวะน้ำท่วมขัง เพราะอุดตันประตูระบายน้ำ จากการทิ้งขยะไม่ลงถัง หรือเวลาฝนตก และมีลมพัดขยะออกจากถังลงไปสู่ท่อระบายน้ำ และการทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลองโดยตรง


น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ที่สำคัญปัญหาขยะยังกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน เนื่องจากมีเชื้อโรคต่างๆ ที่เกิดจากขยะในลำคลอง ไม่ว่าจะเป็น โรคอุจจาระร่วง โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อย ไข้รากสาดเทียม โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ โรคตับอักเสบไวรัสเอ และโรคพยาธิต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้นชุมชนจึงต้องให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการขยะ การคัดแยกขยะ และถังขยะที่มีฝาปิด จึงอยากให้พี่น้องในชุมชนเป็นต้นแบบในการตื่นตัวในพื้นที่เขตจอมทอง-ธนบุรี 


นอกจากจะดำเนินการด้านการจัดการขยะเพื่อให้พี่น้องมีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บป่วยแล้ว ยังต้องการให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดการขยะ และให้ชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นโดยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ดังนั้นในขณะนี้เราพยายามเรียนรู้โครงการ “Zero Waste” ของ “เมืองคามิคัทซึ” (Kamikatsu) ประเทศญี่ปุ่นที่สามารถจัดการขยะได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จนเป็นต้นแบบเมือง zero waste แห่งเดียวในเอเชีย 




โดยริเริ่มจากการรีไซเคิลและใช้ซ้ำ (recycle and reuse) ของเสียทุกชนิดในครัวเรือน ทุกครัวเรือนทำการแยกขยะเอง และนำเศษวัสดุที่ได้รับการล้างทำความสะอาดแล้วจึงส่งไปมายังศูนย์รีไซเคิล และจะจัดตั้งร้านค้าหรือศูนย์กลางที่รวบรวมสินค้าสำหรับให้ยืม เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์ครัวเรือน ที่ชุมชนสามารถหมุนเวียนมายืมไปใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่ ลดรายจ่ายของคนในชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราทำได้นะ แต่ต้องทำกันต่อเนื่องและให้เวลากับมันสักระยะหนึ่ง

" วันนี้เราต้องชวนกันมาทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อสร้างชุมชนที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคน สร้างความสามัคคีกันในชุมชน ดีกว่าชวนกันไปชุมนุมทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองบางพรรค หรือกลุ่มบางกลุ่ม ที่ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือต่อรอง มีแต่เพาะเชื้อโรคร้าย สร้างความเกลียดชัง ความแตกแยกขัดแย้งให้กับสังคม และซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่ประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาปากท้อง สร้างความหวั่นไหวให้กับนักลงทุนต่างชาติ กระทบต่อความเชื่อมั่น"น.ส.ทิพานัน กล่าว