จิตแพทย์ชี้“สมคิด พุ่มพวง” อาจอยู่ในข่าย “ไซโคพาธ”

2019-12-17 19:00:07

จิตแพทย์ชี้“สมคิด พุ่มพวง” อาจอยู่ในข่าย “ไซโคพาธ”

Advertisement

โฆษกกรมสุขภาพจิตระบุกรณี “สมคิด พุ่มพวง” อาจอยู่ในข่าย “ไซโคพาธ” มีความแข็งกระด้างของจิตใจขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หลายครั้งมีความก้าวร้าวที่อยู่ในตัวเองสูง มีการทำลายสิ่งรอบตัวทั้งบุคคลและสิ่งของโดยที่ตนเองจะไม่รู้สึกอะไรมาก


จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยื่นคำร้องต่อศาล ออกหมายจับนายสมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่องที่เพิ่งพ้นโทษออกมาและก่อเหตุฆาตกรรม นางรัศมี มุลิจันทร์ อายุ 51 ปี เสียชีวิตภายในบ้านพัก ในเขต อ.กระนวน จ.ขอนแก่น นั้น

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การก่อเหตุซ้ำเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียแล้ว ยังเกิดความตระหนกและหวั่นวิตกต่อประชาชน จากกรณีที่เกิดขึ้นมีหลายๆคนที่เกิดจากปัญหาด้านบุคลิกภาพที่ผิดปกติ ที่ไม่ใช่โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรคอื่นๆ แต่ปัญหาโรคทางบุคลิกภาพนั้นเป็นอีกมิติหนึ่งของโรคทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นโรคทางอารมณ์ ทางความคิด ทางพฤติกรรม โดยโรคทางบุคลิกภาพจะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ช่วงอายุ 17 - 18 ปี ที่ร่างกายเริ่มมีการพัฒนาบุคลิกภาพบางอย่างขึ้นมาและเกิดขึ้นได้หลายแบบ และหนึ่งในบุคลิกภาพที่ผิดปกติคือบุคลิกภาพที่ต่อต้านสังคมหรือ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า antisocial personality disorder หากในเชิงอาชญวิทยาจะเรียกว่า phycho pass ที่ใช้เรียกในกรณีที่มีการฆาตกรรมต่อเนื่อง โดยจะมีลักษณะของคนที่มีบุคลิกภาพไม่รู้สึกว่ามีอารมณ์ร่วมกับสิ่งต่างๆ มีความแข็งกระด้างของจิตใจขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หลายครั้งมีความก้าวร้าวที่อยู่ในตัวเองสูง มีการทำลายสิ่งรอบตัวทั้งบุคคลและสิ่งของโดยที่ตนเองจะไม่รู้สึกอะไรมาก และมีการนำตนเองเป็นจุดศูนย์กลางคิดว่าโลกสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตนเองได้ ซึ่งหลายคนมักจะแสดงบุคลิกภาพเหล่านี้ออกมาเป็นการทำลายข้าวของหรือการทำร้ายผู้อื่นเป็น อาชญากร และมีบางส่วนที่ได้พัฒนามาเป็นฆาตกรต่อเนื่อง จากกรณีดังกล่าวต้องอาศัยการพิจารณาอีกครั้งซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถบ่งบอกได้ชัดเจน



สำหรับการประเมินสภาพจิตและจิตเวชของผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น นพ.วรตม์ ระบุว่า ตามหลักเกณฑ์การทำงานในเรือนจำทุกที่จะมีการประเมินสุขภาพจิตของผู้ต้องขังระหว่างถูกจองจำอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันยังไม่แน่ชัด ว่ามีการประเมินสุขภาพจิตและจิตเวชให้แก่นักโทษก่อนได้รับการปล่อยโทษหรือไม่ โดยในปัจจุบันภาระงานในเรือนจำมีค่อนข้างมากประกอบกับจำนวนนักโทษที่ล้นเรือนจำ และบุคลากรด้านจิตวิทยาที่ต้องเข้าไปดูแลมีปริมาณที่น้อย

นพ.วรตม์ กล่าวด้วยว่า ส่วนแนวทางปฏิบัติสำหรับนักโทษกลุ่มนี้ หากเทียบในหลายประเทศที่ประสบความเร็จ ในการป้องกันนักโทษก่ออาชญากรรมซ้ำ หลายประเทศจะเน้นเรื่องการบำบัดสุขภาพจิตเป็นหลักซึ่งการบำบัดด้านสุขภาพจิตจำเป็นต้องใช้งบประมาณบุคลากรและกำลังคนในการบำบัด และต้องอาศัยความร่วมมือกันในสังคมที่ไม่ใช่การบำบัดในเรือนจำเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อผู้ต้องขังออกไปทางสังคมแล้วได้รับโอกาสที่ควรได้รับ เช่นการอยู่ในสังคมมีการติดตามอาการต่อเนื่อง หากเกิดอาการผิดปกติที่อย่างดูมีแนวโน้มว่าจะทำร้ายผู้อื่นหรือทำร้ายตนเอง ควรมีระบบการรายงานที่ชัดเจนกลับเข้ามายังเรือนจำพิจารณาว่ายังสมควรได้รับการดูแลภายใต้กฎหมายอยู่หรือไม่