พบใหม่ “สตรอเบอร์รี่” กลายพันธุ์! รูปทรงสวย คล้ายหยดน้ำ

2019-12-17 16:50:43

พบใหม่ “สตรอเบอร์รี่” กลายพันธุ์! รูปทรงสวย คล้ายหยดน้ำ

Advertisement

มช.เจ๋ง ค้นพบสตรอเบอร์รี่ที่คาดว่าจะเป็นพันธุ์ใหม่ในอนาคต ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มาจากสายพันธุ์ต้นสตรอเบอร์รี่ไทย ที่ไม่ต้องปลูกที่อากาศเย็นจัด แล้วรูปทรงผลสวยคล้ายหยดน้ำ คาดว่าภายในปี 63 จะระบุสายพันธุ์ที่ชัดเจนได้

วันที่ 17 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบต้นสตรอเบอร์รี่สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อขยายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ปลอดโรค เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานวิจัยที่เกิดขึ้น

ด้าน รศ.ดร.เกวลิน คุณาศักดากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการผลิตต้นกล้าสตรอเบอร์รี่ปลอดโรค จนนำมาสู่การคัดเลือกจนได้ต้นสตรอเบอร์รี่ที่คาดว่าเกิดการกลายพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และงานวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ ที่มีการเติบโตและออกดอกได้ในสภาพอุณหภูมิที่เหมาะสมกับประเทศไทยในครั้งนี้ เกิดจาก หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญว่า ในปัจจุบันการผลิตสตรอเบอร์รี่ของทางภาคเหนือ ประสบปัญหาที่เกษตรกรใช้ต้นพันธุ์ที่วนซ้ำกันมานานมากกว่า 10 ปี แล้วต้นกล้ามีการติดเชื้อค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของเชื้อรา เช่น เชื้อราสาเหตุโรคแอนแทรคโนส รวมถึงไวรัสที่ติดไปกับต้นพันธุ์ตลอดเวลา ซึ่งสตรอเบอร์รี่เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยต้นไหลที่เจริญมาจากต้นแม่ ดังนั้น เมื่อต้นแม่พันธุ์ติดโรค ต้นไหลที่นำไปปลูกก็จะติดโรคทุกครั้งที่ขยายพันธุ์ไป




ปัญหาการขาดแคลนต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคในการเพาะปลูกอยู่ในปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะเกษตรศาสตร์ ก็มีองค์ความรู้ และมีงานวิจัยอยู่ โดยทำงานร่วมกันหลายสาขาในคณะ ทั้งสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ปฐพีศาสตร์ และพืชศาสตร์ จึงได้ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการนำพันธุ์ที่ใช้ในเชิงการค้ามาทำให้ปลอดโรค ทางคณะเกษตรศาสตร์ ได้มีการรวบรวมสายพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่สามารถปลูกในประเทศไทยเราได้ รวมถึงการคัดพันธุ์ที่อาจจะเกิดจากการกลายพันธุ์ ก็ค้นพบสายพันธุ์อยู่จำนวนหนึ่ง ลักษณะดี รูปร่างของผลสวยงามมาก เป็นรูปหยดน้ำ โดยปกติแล้วสตรอเบอร์รี่ต้องปลูกในอากาศที่เย็น แต่สายพันธุ์ที่ค้นพบจากการกลายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น สภาพอากาศที่ไม่เย็นมากก็ปลูกแล้วออกดอกและให้ผลผลิตได้


เมื่อหากนำมาเทียบกับสายพันธุ์ของประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตัวต้นที่กลายพันธุ์และถูกค้นพบนี้ จะมีลักษณะของตัวผลคล้ายกันสตรอเบอร์รี่พันธุ์ 80 แต่ต่างกันตรงที่พันธุ์ 80 นั้น บริเวณตรงขั้วของผลสตรอเบอร์รี่ จะมีลักษณะยุบตัวลงไป แต่ตัวสายพันธุ์ที่ค้นพบจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการกลายพันธุ์ดังกล่าว พบว่าตัวผลเป็นรูปกลม เหมือนหยดน้ำ ขั้วผลไม่ยุบตัว แล้วรูปร่างสวย ผิวสวย มีความหวาน ขณะนี้ยังอยู่ในห้วงของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและขยายพันธุ์เพื่อทดสอบเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าภายในปี 63 จะสามารถระบุสายพันธุ์ที่ชัดเจนได้



สำหรับการทำต้นกล้าปลอดโรคของต้นสตรอเบอร์รี่ เป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับที่ต่างประเทศใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเจริญบริเวณยอด และเพิ่มปริมาณในสภาพเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลังจากนั้นก็นำออกปลูกเพื่อให้ต้นแม่พันธุ์ที่ปลอดโรคแล้ว นำต้นแม่พันธุ์มาผลิตไหลสตรอเบอร์รี่ เพื่อขยายต้นพันธุ์สตรอเบอร์รี่ และนำไปทดแทนไหลสตรอเบอร์รี่ ที่เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกแล้วมีปัญหา มีการติดเชื้อค่อนข้างมากในปัจจุบัน ซึ่งผลการวิจัยก็สามารถผลิตต้นกล้าปลอดโรคได้ที่เป็นเชิงการค้าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ 80 ที่เป็นพันธุ์รับประทานสด หรือพันธุ์ 329 และพันธุ์อื่นๆ ได้หลายสายพันธุ์ด้วยกัน และเป็นต้นกล้าที่มีคุณภาพ เมื่อเกษตรกรนำไปปลูกก็จะลดปัญหาเรื่องของการรวบกวนของโรค ดังนั้น เกษตรกรก็จะสามารถลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย หรือสารกำจัดโรคพืช ผู้บริโภคก็จะมั่นใจมากขึ้นว่า ผลผลิตที่ได้จากต้นกล้าสตรอเบอร์รี่ปลอดโรค น่ารับประทานและลดสารเคมีลงไปได้ และหากเกษตรกรจะนำไปปลูก จะเป็นการใช้ไหลในรุ่นที่ 4 ที่จะคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพในเชิงการผลิตผลสตรอเบอร์รี่สดได้ดีกว่าในรุ่นอื่นๆ

ส่วนต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคนี้ เมื่อเกษตรกรนำไปปลูกแล้ว อายุของต้นพันธุ์ที่ปลอดโรคจะขึ้นอยู่กับการดูแลของเกษตรกร เพราะต้นปลอดโรค ไม่ใช่ต้นที่ต้านทานโรค หากเกษตรกรนำไปปลูกแล้ว ในพื้นที่นั้น มีแมลงพาหะ หรือมีเชื้อสาเหตุโรคปะปนอยู่ การติดเชื้อก็สามารถเกิดขึ้นได้อีกครั้ง เกษตรกรควรทำลายไหลสตรอเบอร์รี่ที่นำไปปลูกทิ้ง แล้วนำไหลปลอดโรคไปปลูกใหม่ แต่หากมีการจัดการดูแลที่ดีก็สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 1 - 2 ครั้งในรุ่นถัดไป เพราะสภาพพื้นที่ประเทศไทยแมลงเยอะ แล้วแมลงที่พาหะของโรคไวรัสก็จะลายต้นสตรอเบอร์รี่แล้วนำเชื้อกลับมาสู่ต้นสตรอเบอร์รี่ได้อีกครั้งหนึ่ง