อินเดียประท้วงกฎหมายสัญชาติ ตายแล้ว 6

2019-12-16 14:00:02

อินเดียประท้วงกฎหมายสัญชาติ ตายแล้ว 6

Advertisement


เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงในหลายพื้นที่ของกรุงนิวเดลี เมืองหลวงอินเดียเมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม ระหว่างการประท้วงต่อต้านกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ ที่สร้างความขัดแย้ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะมอบสัญชาติอินเดียให้แก่ผู้อพยพที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม จาก 3 ประเทศมุสลิม คือบังกลาเทศ, ปากีสถานและอัฟกานิสถาน หากผู้อพยพจากทั้ง 3 ประเทศนี้กำลังเผชิญหน้ากับการถูกกดขี่ข่มเหงรังแก

เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาและกระบองเป็นอาวุธ จัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง ขณะที่รถบัสหลายคันถูกจุดไฟเผาและถนนหลายสายถูกปิด โดยการประท้วงลุกลามไปทั่วภาคเหนือและตะวันออกของประเทศตั้งแต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบในรัฐสภาและลงนามบังคับใช้โดยประธานาธิบดีอินเดียแล้ว



มีผู้เสียชีวิตแล้ว 6 คนในการประท้วงรุนแรงมา 5 วัน โดยในช่วงสุดสัปดาห์ กลุ่มผู้ประท้วงในรัฐเบงกอลตะวันตก ปิดถนนหลวงสายสำคัญของประเทศ ขณะเดียวกันในรัฐอัสสัม รัฐบาลก็ยกเลิกเคอร์ฟิวในช่วงสั้น ๆ เพื่ออนุญาตให้ประชาชนออกไปซื้อสินค้าจำเป็นต่อการประทังชีวิตมากักตุนไว้

สหราชอาณาจักร, สหรัฐและแคนาดา ประกาศเตือนการเดินทางสำหรับประชาชนของตนที่จะไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากเดินทางไปยังภูมิภาคแห่งนี้



นักศึกษาของมหาวิทยาลัยมุสลิมชื่อดัง “จาเมีย มิเลีย อิสลาเมีย” จัดการเดินขบวนประท้วง ซึ่งยุติลงด้วยการปะทะกันดุเดือดกับตำรวจปราบจลาจล ยังไม่มีความชัดเจนว่าฝ่ายใดเริ่มต้นก่อความรุนแรง แต่ก้อนหินถูกขว้างเจ้าใส่ตำรวจ ซึ่งก็ตอบโต้ด้วยการยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ มีรถบัสอย่างน้อย 3 คัน และจักรยานยนต์หลายคันถูกเผา มหาวิทยาลัยแถลงว่า ตำรวจบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจมตีเจ้าหน้าที่และนักศึกษา แต่ตำรวจก็โต้ว่า พวกเขาจำเป็นต้องบุกเข้าไปเพื่อยุติการประท้วง ส่วนโรงเรียนหลายแห่งที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งนี้ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงนิวเดลี ถูกสั่งให้ปิดการเรียนการสอนในวันจันทร์

กฎหมายว่าด้วยสถานะพลเมืองฉบับนี้ จะมอบสัญชาติอินเดียให้แก่ผู้อพยพที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมจากบังกลาเทศ, ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ที่เข้าอินเดียอย่างผิดกฎหมาย รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของพรรคภาราติยะ ชนตะ หรือบีเจพี ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือคนที่หลบหนีการกดขี่ข่มเหงทางศาสนาใน 3 ประเทศนี้ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของวาระของรัฐบาล ในการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม และเป็นการละเมิดหลักการ “โลกวิสัย” ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มีความเป็นกลางในการนับถือศาสนา

ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ สำนักงานสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ต่างแสดงความวิตกกังวลว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติชัดเจน ขณะเดียวกัน ชาวอัสสัมจำนวนมาก แย้งว่า คนนอกจะเข้ามาครอบครองที่ดินและงานของพวกเขา ซึ่งในที่สุดก็จะกลืน หรือครอบงำวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของพวกเขา ด้านรัฐบาลปฏิเสธเรื่องการมีอคติทางศาสนา และบอกว่า ชาวมุสลิมไม่ได้ครอบคลุมในกฎหมายฉบับนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนา เพราะฉะนั้น อินเดียก็ไม่จำเป็นต้องปกป้องคุ้มครอง