"โรคซึมเศร้า" หายได้ถ้ารักษา

2019-12-14 06:00:55

"โรคซึมเศร้า" หายได้ถ้ารักษา

Advertisement

"โรคซึมเศร้า" หายได้ถ้ารักษา

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัยมาก ในคนไข้ที่เป็นโรคซึมเศร้าแต่ละคนก็มีความเป็นมาไม่เหมือนกัน โดยภาพรวมก็เป็นปัจจัยทางด้านจิตใจ ซึ่งคนที่เป็นโรคซึมเศร้าก็มีแนวโน้มที่จะมองตัวเองในทางลบอยู่แล้ว อาจจะเกี่ยวกับการเลี้ยงดูมาตั้งแต่วัยเด็กที่อาจจะถูกทอดทิ้ง หรือว่าใช้ความรุนแรง หรือว่ามีความห่างเหินทางด้านจิตใจระหว่างผู้ป่วยกับพ่อแม่ หรือมีการเลี้ยงดูที่ไม่ค่อยถูกต้องต่าง ๆ ไม่ค่อยได้เสริมให้เด็กมีกำลังใจหรือว่าเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือว่าอาจจะมีความเครียดต่อเนื่องกันมานาน ๆ สุดท้ายแล้ว ประสบการณ์ที่เขาเติบโตมา ไม่ว่าจะเป็นจากการเลี้ยงดู หรือว่าปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดความเครียดต่าง ๆ มันก็มีผลต่อการทำงานของสมองที่ควบคุมเรื่องของอารมณ์

ในสมัยก่อนเรารอให้ซึมเศร้าเยอะจนกระทั่งบางคนฆ่าตัวตายแล้วถึงจะมาหาหมอ แต่ปัจจุบันเราไม่ต้องรอให้อาการหนักขนาดนั้น เรามีแบบทดสอบที่จะคัดกรองประเมินตัวเอง หากเราประเมินตัวเอง แล้วรู้สึกว่าอารมณ์ของเราเปลี่ยนไปจากเดิม มันมีผลกระทบต่อชีวิตของเราเยอะ จากที่เราเคยมีความสุขในการที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือทำงานตามหน้าที่ได้ตามปกติ มันเริ่มท้อถอยไป แล้วก็รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยว ซึมเศร้า ไม่มีความสุข อาจจะคิดลบต่าง ๆ หรือมีอาการนอนไม่หลับ ความคิดความจำลดลงนั้น ก็ควรจะมาพบแพทย์ได้แล้ว ไม่ต้องรอให้อาการเยอะจนกระทั่งความคิดด้านลบมันอยู่เป็นเวลานาน หรือจนกระทั่งคิดจะทำร้ายตัวเอง

การรักษาด้วยยาทางจิตเวชที่รักษาโรคซึมเศร้า จะไม่ใช่ยาที่รับประทานแล้วจะดีขึ้นมาในวันสองวัน ส่วนใหญ่จะใช้เวลาเป็นสัปดาห์ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปถึงจะดีขึ้น หากถามว่ามีผลข้างเคียงอย่างไร โดยทั่วไป ถ้าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้ารุ่นเก่า ๆ ก็จะมีผลข้างเคียงเยอะตั้งแต่ปากแห้ง ท้องผูก ใจสั่น แต่ยารักษาโรคซึมเศร้ารุ่นหลัง ๆ ผลข้างเคียงต่าง ๆ จะน้อยกว่ายารุ่นก่อน แต่ก็จะยังมีอยู่ เช่น อาจจะมีความรู้สึกคลื่นไส้ พะอืดพะอม บางคนก็จะเวียนหัว อาจจะมีใจสั่นมือสั่นบ้าง แต่โดยทั่วไป ผลข้างเคียงมันก็จะค่อย ๆ ลดลงเหมือนเราทนกับยาได้มากขึ้น

ถ้าหมอไม่ได้อธิบายไว้ก่อน คนไข้ก็จะไม่ค่อยอยากกินยาเพราะว่าการกินยาช่วงแรก ผลของมันจะยังไม่เห็น แต่ว่าผลข้างเคียงจะมาก่อน เพราะฉะนั้นคนไข้ก็จะต้องเข้าใจเหมือนกันว่า ช่วงแรกอาจจะต้องทนกับผลข้างเคียงนิดหนึ่ง แล้วมันก็จะลดลง ส่วนเรื่องอารมณ์มันจะใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยทั่วไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ที่จะเริ่มเห็นผลได้ชัดเจน

การรักษาโรคซึมเศร้าต้องมีการบำบัดทางด้านจิตใจร่วมด้วย และยารักษาโรคซึมเศร้าตัวหนึ่ง ไม่ใช่ได้ผลกับทุกคน บางคนก็อาจจะได้ผลดีกับตัวนี้ บางคนก็อาจะได้ผลดีกับอีกตัว เพราะฉะนั้น เวลาเริ่มรักษา ถ้ารักษาไประยะหนึ่ง เช่น 4 สัปดาห์ หรือ 6 สัปดาห์ แล้วดูอาการยังไม่ค่อยดีขึ้น หมอก็อาจจะพิจารณาการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน

คนที่เป็นโรคซึมเศร้ารักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่พอ มันมีวิธีอื่น ๆ อีก อันดับแรกก็คือ ถ้าพอไหว พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด อาจจะต้องฝืนไปบ้าง บางคนออกไปข้างนอก ไปพบปะผู้คน บางทีทำได้ แต่เขาบอกว่ากลับมาบางทีเหมือนมันดูดพลังไปหมดทั้งวันเลย กลับมานอน แต่ว่าก็ต้องพยายามทำนิดหนึ่ง คือพยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติเข้าไว้ แล้วก็อาจจะต้องใช้วิธีอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกาย การผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีทั่ว ๆ ไป เช่น ฟังเพลงหรืออะไรทำนองนี้ ถ้ามีความพร้อมที่จะสนใจทางธรรมะ ก็เป็นสิ่งที่ดีอันหนึ่ง แต่โดยทั่วไปคนที่ซึมเศร้าช่วงแรก ๆ ใจจะยังไม่พร้อมที่จะไปทางฝึกสมาธิ ไปทางเรียนรู้ธรรมะ แต่ถ้าพร้อมก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วย

สิ่งที่ช่วยอีกอันหนึ่งคือ มนุษย์มีพื้นฐานก็คือต้องการสังคม ต้องการความผูกพันกับผู้อื่น ก็พยายามที่จะเข้าหาเพื่อนหรือว่าคนที่เราคุ้นเคย ไว้วางใจ แล้วก็อาจจะพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ปัญหาต่าง ๆ บางทีปัญหาของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจจะไม่เยอะนัก แต่ว่าพอเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว มันจะทำให้เราขยายคือทำให้เรามองว่ามันคงจะแย่ไป แต่ว่าถ้ามีคนอื่นที่เขาคอยให้คำปรึกษาและคอยรับฟังเรา บางทีเขาอาจจะมองเห็นวิธีแก้ที่ไม่ยากนักได้

การมาพบจิตแพทย์ก็ไม่ต้องรอให้เป็นโรคทุกอย่างที่มีอาการหนักแล้ว แต่ก็คือ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าจิตใจเราไม่เป็นปกติสุข ไม่เหมือนที่เราเคยเป็น หรือมีความทุกข์เยอะ มีความลำบากใจ หรือแม้แต่บางทีเราอาจจะจัดการกับอะไรบางอย่างไม่ได้ แล้วมันมีผลกระทบต่ออาการทางกายหรือทางใจบางอย่าง ก็สามารถที่จะมาปรึกษาจิตแพทย์ได้ การเข้าหาจิตแพทย์ตั้งแต่อาการน้อย ๆ ปัญหาต่าง ๆ เหมือนกัน ถ้าเราแก้ตั้งแต่น้อย ๆ มันจะแก้ได้ง่ายกว่า คือถ้ามันเป็นเยอะไปแล้ว มันก็ต้องใช้เวลา และยิ่งถ้าเป็นซึมเศร้าไปแล้ว แล้วเป็นหลายครั้ง มันก็จะยิ่งทำให้การรักษายากขึ้น

รศ. นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล