ปลัด สธ. ให้กำลังใจ พญ.ถูกทำร้าย ยันดำเนินคดีคนไข้พยายามฆ่า

2019-12-11 17:35:45

ปลัด สธ. ให้กำลังใจ พญ.ถูกทำร้าย ยันดำเนินคดีคนไข้พยายามฆ่า

Advertisement

ปลัด สธ.โทรศัพท์สายตรงให้กำลังใจแพทย์หญิง รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ถูกคนไข้ทำร้าย ส่งผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 7 ลงพื้นที่ดูแลเยียวยา ติดตามคดี ยืนยันให้ดำเนินคดีข้อหาพยายามฆ่า

จากกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิดใน รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น โดยผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นคนไข้ มีอาการคุ้มคลั่งตะโกนว่า “ถ้าตรวจช้าแบบนี้มาตายพร้อมกันไปเลย” จากนั้นได้กระโดดล็อกคอแพทย์หญิงแล้วใช้กรรไกรแทงเข้าที่ลำคอ แต่โชคดีที่แพทย์หญิงคนดังกล่าวได้ยกแฟ้มเอกสารขึ้นมาบังไว้ ก่อนที่พยาบาลจะเข้าไปช่วยเหลือเอาไว้ได้ทัน โดยผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.ชุมแพ เพื่อดำเนินคดีตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีมีผู้ป่วยทำร้ายร่างกายแพทย์ขณะปฏิบัติหน้าที่ ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 7 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น (นพ.สสจ.ขอนแก่น) และ ผอ.รพ. เข้าเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจแพทย์ที่ถูกผู้ป่วยทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ และให้ลาพักงานเพื่อเยียวยาจิตใจ สำหรับการดำเนินคดีได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการในการดำเนินการแจ้งความในข้อหาพยายามฆ่ากับผู้ป่วยรายดังกล่าว พร้อมส่งมอบวัตถุพยาน เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด กรรไกรที่ใช้ก่อเหตุ ให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ตามฎีกาที่ 816/2520 ที่ผ่านมา ระบุว่าการทำร้ายบริเวณต้นคอซึ่งมีเส้นเลือดสำคัญนั้นอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ถือว่าเป็นการพยายามฆ่า

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ในด้านมาตรฐานความปลอดภัยในสถานพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขได้เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety) ของ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ในการปฏิบัติงานของโรงพยาบาลต่างๆ ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้วกว่าร้อยละ 90 รวมถึงมาตรฐานต่างๆ เช่น ห้องฉุกเฉินคุณภาพ อย่างไรก็ตาม คงต้องทบทวนว่ามาตรฐานที่ สรพ.กำหนดให้มีความครอบคลุม อาจจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งดูแลเครื่องมือแพทย์ดำเนินการ ให้กรมการแพทย์ ซึ่งดูแลมาตรฐานและระบบต่างๆในห้องฉุกเฉิน ให้ขยายมาตรฐานความปลอดภัยมายังหอผู้ป่วยทั้งหมด โดยเน้นกิจกรรมคุณภาพ เช่น การทำ 5 ส. ให้จัดเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระเบียบ นอกจากนี้ หากมีผู้บาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาทมาเป็นกลุ่มและมีอาการมึนเมาต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าตำรวจเพื่อช่วยดูแลความปลอดภัย นอกจากจะเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยแล้วจำเป็นต้องดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้วย ที่สำคัญคือการจัดรูปแบบการให้บริการเพื่อช่วยลดความแออัด ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ช่วยเสริมสร้างมาตรฐานของโรงพยาบาล

“ในวันนี้ ผมได้โทรศัพท์พูดคุยให้กำลังใจกับน้องและเปิดสายเพื่อให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม. สำหรับกระทรวงสาธารณสุขเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ที่เสียสละปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างจังหวัด หากมีปัญหาเกิดขึ้นในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายดำเนินคดีให้ถึงที่สุด หากผู้บริหารในพื้นที่อะลุ่มอล่วยจะดำเนินคดีมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และขอความเห็นใจจากทุกๆ คนในการยุติการก่อเหตุความรุนแรงทุกรูปแบบในโรงพยาบาล” นพ.สุขุมกล่าว