“จุรินทร์” จับมือภาคเอกชนเร่งรัดตัวเลขส่งออก

2019-12-04 13:00:41

“จุรินทร์” จับมือภาคเอกชนเร่งรัดตัวเลขส่งออก

Advertisement

“จุรินทร์” จับมือภาคเอกชนเร่งรัดตัวเลขส่งออก ในช่วงปลายปีกับช่วงต้นปีหน้า

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภายหลังการประชุมวอร์รูมด้านการส่งออกในโครงสร้างของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ ( กรอ.พาณิชย์) ว่า เรื่องการส่งออกได้เชิญผู้แทนของสภาหอการค้า สภาอุตสากรรมรวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน มาร่วมหารือกันเพื่อเร่งรัดตัวเลขการส่งออกในช่วงปลายปีกับช่วงต้นปีหน้า ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนก็จะประกอบด้วยทั้งในส่วนของผู้ส่งออกพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา สินค้าเกษตรแปรรูป ส่วน สภาอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมัน อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อื่น

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับการหารือในวันนี้ เพื่อที่จะเร่งรัดการส่งมอบในส่วนที่ได้นำคณะจากกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนไปเปิดตลาดและลงนาม MOU ในหลายประเทศซึ่งตัวเลขล่าสุดที่มีการรวบรวมนั้นได้ทำ MOU ไปทั้งหมด 35 ฉบับ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 44,722 ล้านบาท และทำกิจกรรมจับคู่ซื้อขายทางธุรกิจอีก 26,244 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 70,967 ล้านบาทในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่สองคือในเรื่องของการเร่งรัดนอก MOU เพื่อให้เร่งการส่งมอบสินค้าในเดือน ธ.ค. 2562 และช่วงต้นปี ผลการหารือเบื้องต้นนั้นทางสภาหอการค้าและสภาอุตสากรรม รับในการที่จะไปรีบเรียกประชุมสมาชิกที่สำคัญ ที่จะมีผลต่อตัวเลขการส่งออกให้ช่วยดำเนินการเร่งรัดการส่งมอบในช่วงเดือน ธ.ค. และช่วงต้นปี ให้มีผลเร็วขึ้น ซึ่งวันที่ 6 ธ.ค. 2562 ก็จะได้คำตอบว่าเฉพาะในเดือน ธ.ค. จะช่วยเร่งการส่งมอบได้เพิ่มเติมจากที่จะต้องส่งมอบปกติเท่าไหร่และช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ตัวเลขจะเป็นอย่างไร

“แล้ววันนี้ที่ได้มีการหารือเบื้องต้นคร่าวๆคือ เดือน ธ.ค. 2562 และเดือน ม.ค.2563 ก็มีโอกาสในการเร่งรัดการส่งมอบให้เร็วขึ้นได้ในหลายรายการ เช่น ยางพารา ที่ภาคเอกชนได้ไปทำสัญญาไว้กับประเทศอินเดียและตุรกี ในช่วงที่ผมนำคณะเดินทางไปมีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถเร่งรัดการส่งออกในช่วงเดือนธ.ค.จากที่จะส่งมอบ 2,800 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ตัน นอกจากนั้นในเรื่องของการยางแห่งประเทศไทยก็จะที่ได้ทำ MOU ไว้เมื่อไม่กี่วันมานี้จะจัดให้มีการส่งมอบในช่วงสัปดาห์ที่ที่ 3 หรือ 4 ของเดือนธ.ค.ประมาณ 5,000 ตัน นอกจากนั้นในเรื่องของข้าวก็จะมีการเร่งรัดการส่งมอบสำหรับบางบริษัทเดือน ธ.ค.จะเร่งรัดการส่งมอบได้ 1,500 ตัน เช่น การส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ของบริษัทซีพี" นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับมันสำปะหลังมีตัวเลขสัญญาซื้อขายแล้ว แต่ปัญหาอุปสรรคตอนนี้ก็คือไม่มีของส่ง ต้องรอในช่วงปลายเดือน ม.ค. เป็นต้นไปที่จะมีผลิตภัณฑ์ฤดูใหม่ออกมา ส่วนสำหรับข้าวที่เรานำคณะไปที่ประเทศตุรกีที่ผ่านมานั้นได้ทำสัญญาขายข้าวของบริษัทโตมีอินเตอร์เทรดโดยทำสัญญา MOU ไว้ 3,000 ตัน จะส่งมอบทันทีในกลางเดือน ธ.ค. 2562 นี้ จำนวน 1,000 ตัน และมอบเดือนม.ค. 1,000 ตันตามด้วยเดือน ก.พ. 2563 อีก 1,000 ตันก็จะเต็มจำนวนทันทีภายใน 3 เดือน ด้าน บริษัทยูนิเวอร์แซลไรซ์ จะส่งเดือน ธ.ค. งวดแรก 200 ตันโดยประมาณ

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการส่งออกไก่ของบริษัทซีพีเอฟ ปกติจะส่งไก่เดือนละ 40,000 ตัน วันนี้รับปากว่าเฉพาะในเดือนธ.ค. 2562 นี้จะช่วยเร่งเพิ่มให้อีก 10,000 ตันทั้งในรูปของไก่สดและไก่แปรรูปก็จะมีส่วนในการเพิ่มตัวเลขของเดือนธ.ค.นี้ สำหรับภาคน้ำมันโดยเฉพาะ ปตท.ในปี 2563 มีเป้าหมายว่า จะส่งเสริมการใช้น้ำมันทดแทนมากขึ้นซึ่งจะมีน้ำมันส่วนเกินที่จะส่งออกได้มากขึ้นได้รับแจ้งว่าคาดว่าตัวเลขการส่งออกน้ำมันในปี 2563 ก็จะเพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของธุรกิจอิเล็คทรอนิกส์มีบริษัทยักษ์ใหญ่ 2 ราย คือ บริษัทเวสเทิร์นดิจิตอลกับบริษัทซีเกท เทคโนโลยี ซึ่งทางสภาหอการค้ากับสภาอุตสาหกรรม จะไปประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่งว่าตัวเลขที่แน่นอนเป็นอย่างไรแต่ก็ได้รับการยืนยันว่าต้น 2563 จะช่วยเร่งทำตัวเลขส่งออก สำหรับการส่งออกภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ทางบริษัทโตโยต้ายืนยันว่าเฉพาะในเดือน ธ.ค.จะส่งออกเพิ่มจากตัวเลขที่ส่งออกปกติให้ได้ประมาณ 1,000 คัน จากตัวเลขส่งออกปกติในเดือนธ.ค. สำหรับบริษัทฮอนด้าตัวเลขส่งออกปีหน้าจะช่วยทำให้เพิ่มขึ้นให้ได้เพราะปีหน้าจะส่งออกรถยนต์ไฮบริด ทางด้านบริษัทผลิตยางรถยนต์ของไทยรายใหญ่ คือ ดีสโตน จะช่วยเร่งรัดให้เร่งส่งออกให้ได้ 1,200 ตู้ เฉพาะเดือน ธ.ค.- มี.ค. จะช่วยทำตัวเลขเพิ่มได้อีกจาก 1,200 ตู้ เป็นเดือนละ 1,700 ตู้โดยประมาณ

“เราจับมือร่วมกันในการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนภายใต้ กรอ.พาณิชย์ อันนี้ถือเป็นวอร์รูมหนึ่งที่มาช่วยกันเร่งทำตัวเลขการส่งออกและขอขอบคุณทั้งสภาหออุตสาหกรรมและภาคเอกชนทุกรายรวมทั้งสมาคมแป้งมันและอีกหลายท่านที่อยู่ในที่นี้ที่จะช่วยกันในการที่จะเร่งนำเงินรายได้เข้าประเทศให้เร็วที่สุดในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว" นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ยังแถลงผลการประชุม กรรมการ นโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยว่า เรื่องการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดด้วยจากประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาทครอบครัวละไม่เกิน 30 ไร่ ที่ความชื้นไม่เกิน 14.5%ปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป ตั้งเป้าว่าจะนำเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 11 ธ.ค. นี้โดยการจ่ายเงินส่วนต่างตั้งเป้าว่าจะเริ่มจ่ายงวดแรกวันที่ 20 ธ.ค. และจะจ่ายทยอยไปทุกเดือนแล้วก็หนึ่งครอบครัวมีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนต่างไม่เกิน 30 ไร่ นอกจากนั้นยังมีมาตรการคู่ขนานไปด้วยคือให้สถาบันเกษตรกรสามารถกู้เงินเพื่อเก็บรวบรวมข้าวโพดอาจจะเป็นช่วงที่ข้าวโพดออกมากเป็นต้น เพื่อไม่ทำให้ราคาตกลงไป โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือ ดอกเบี้ยร้อยละ 3 เป็นวงเงินกู้ 1,500 ล้านบาท รวมทั้งผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกัน สามารถใช้สิทธิ์ในการกู้เงินเพื่อเก็บข้าวโพดไว้ในสต๊อก หนึ่งช่วงที่ข้าวโพดออกเยอะที่ต้องเก็บ 2 ถึง 4 เดือนก็จะช่วยดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3 เช่นเดียวกัน คือ มาตรการคู่ขนานหรือมาตรการเสริม

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาเรื่องการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเพราะว่าพบว่ามีตัวเลขที่น่าจะมีการลักลอบนำเข้าในปริมาณที่ไม่น้อยไปกว่าการนำเข้าโดยถูกกฎหมาย ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะไปศึกษาว่าควรจะบริหารจัดการจัดการกับการลักลอบนำเข้าอย่างไรนอกจากมาตรการปกติที่ทำกันอยู่และประการที่สองก็คือสำหรับของกลางที่ยึดได้จากการกระทำความผิดในการลักลอบนำเข้านั้นจะไปบริหารจัดการอย่างไรซึ่งปัจจุบันนี้เมื่อจับได้ก็จะส่งกรมวิชาการเกษตรตรวจถ้าพบว่าไม่มีคุณภาพหรือมีปัญหาเรื่องเชื้อโรคก็จะนำไปทำลายแต่ถ้าถูกต้องก็จะนำมาประมูล ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมแล้วหรือไม่เพราะในที่สุดก็เท่ากับเป็นการมาเพิ่มปริมาณข้าวโพดในประเทศและทำให้ข้าวโพดในประเทศราคาตกอยู่ดี จึงให้ไปศึกษาหาวิธีว่าจะแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีไหนอย่างไรแล้ว