“อ.เจษฎา” เห็นด้วยไม่ควรแบน “ไกลโฟเซต” (คลิป)

2019-11-28 12:10:57

“อ.เจษฎา” เห็นด้วยไม่ควรแบน “ไกลโฟเซต” (คลิป)

Advertisement

“รศ.ดร.เจษฎา” เห็นด้วย คกก.วัตถุอันตรายไม่ควรแบน “ไกลโฟเซต” ซัดหากหาสารทดแทนที่ดีกว่าไม่ได้ ไม่ต่างจากการย้ายนายทุน

จากกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติให้ออกประกาศ กำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ เลื่อนจาก 1 ธ.ค. 2562 เป็น 1 มิ.ย.2563 ส่วนไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 รวมถึงมอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม รวมถึงลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป และให้นำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาภายใน 4 เดือน นับจากวันที่มีมตินั้น

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยต่อประเด็นดังกล่าวกับทีมข่าว New18 ว่า มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นไปตามที่ตนเคยเสนอไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งต้องรอติดตามดูกันในอีก 6 เดือนว่าจะดำเนินการเป็นไปในทิศทางใด ขณะที่ยาฆ่าหญ้าไกลโฟเซตนั้น ไม่ควรจะแบนเด็ดขาด เพราะเป็นยาฆ่าหญ้าตัวที่มีความเป็นพิษต่ำที่สุดในทุกตัวแล้ว นับว่ามีความปลอดภัยสูง และแม้จะมีการตกค้างอยู่ในสินค้าทางการเกษตรบ้างแต่ก็มีเพียงเล็กน้อยมากๆ เป็นยาฆ่าหญ้าที่นิยมใช้กันทั่วโลก แทบไม่มีประเทศไหนแบนเลย เพราะเป็นสารทดแทนตัวหนึ่งหลังจากที่บางประเทศแบนพาราควอตแล้วอีกด้วย หากจะยกเลิกการแบนสาร เปลี่ยนมาเป็นการจำกัดใช้ทางกระทรวงเกษตรฯ กรมวิชาการเกษตรก็มีการดำเนินการจัดอบรมให้กับเกษตรกรอยู่แล้ว เพื่อเป้าหมายที่ต้องจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดนั้นมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ผิดกับครั้งก่อนที่จะทำการแบนทั้ง 3 สารพร้อมกันอย่างรวดเร็ว

รศ.ดร.เจษฎา มองว่า การหาสารทดแทนมาใช้หากแบน 3 สารนี้ไปก็มีอีกหลายสารที่มีพิษน้อยกว่าหรือปานกลางมาใช้ทดแทนกันได้ สารทั้ง 3 ตัวนี้เป็นคนละชนิดกันมีเป้าหมายต่างกันซึ่งการทดแทนก็จะเป็นคนละชนิดกัน เช่น คลอร์ไพริฟอสที่เป็นยาฆ่าแมลง สารตัวนี้แม้จะถูกแบนแต่ในต่างประเทศก็ยังมีการใช้กันอยู่ และสามารถใช้สารเคมีตัวอื่นมาทดแทนได้ แต่สารที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่คือ สารพาราควอตที่เป็นยาฆ่าหญ้าไม่ใช่ยาฆ่าแมลงไม่มีผลตกค้างกับผู้บริโภค แต่ปัญหาอยู่ที่การใช้ เช่น เกษตรกรแต่งกายไม่เหมาะสมหรือฉีดพ่นไม่เหมาะสม บางรายนำมากินเพื่อฆ่าตัวตาย ฉะนั้นต้องมาทบทวนกันว่าจะใช้ต่อไปต้องเข้มงวดมากกว่าเดิมเพราะใน 80 กว่าประเทศที่ยังไม่แบนมีการใช้อย่างเข้มงวด หรือหากต้องแบนอย่างจริงจังต้องหายาฆ่าหญ้าตัวอื่นมาใช้ มีบางต่างประเทศที่แบนสารพาราควอตและใช้สารไกลโฟเสตแทน เนื่องจากสารตัวนี้มีพิษต่ำสุด

รศ.ดร.เจษฎา ระบุด้วยว่า หากแบนไกลโฟเสตไปด้วยจะเกิดปัญหา เพราะสารทดแทนที่มีอยู่ตอนนี้เป็นพิษสูงกว่าเช่น บลูโฟซิเนต เป็นต้น และมีราคาแพงกว่าหลายเท่า ไม่ต่างจากการเปลี่ยนนายทุนจากเจ้าหนึ่งไปอีกเจ้าหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง การแบนสารไกลโฟเสตควรมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม ต้องจับตาดูกันต่อไปในอีก 6 เดือนว่าจะมีสารทดแทนที่ดีกว่าพาราควอตหรือไม่ ผลการพิจารณาใหม่ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องเหมาะสมแล้ว ซึ่งอยู่บนทั้งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์ และทางเศรษฐกิจสังคม รวมถึงเพื่อชีวิตของเกษตรกรไทยด้วย