เดอะ เคฟ พ้น "จมน้ำ" ปาฏิหาริย์เจ้าหญิงดอยนางนอน

2019-11-27 20:00:32

เดอะ เคฟ พ้น "จมน้ำ" ปาฏิหาริย์เจ้าหญิงดอยนางนอน

Advertisement

ออกสตาร์ทไม่ดีเอามากๆ สำหรับหนัง เดอะ เคฟ นางนอน หนังที่สร้างจากเหตุการณ์จริง 13 ชีวิตทีมหมูป่า อคาเดมี ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย นานถึง 17 วัน


เป็น 17 วันที่ต้องลุ้นระทึก ท่ามกลางกระแสข่าวที่โด่งดังไปทั่วโลก ผู้คน และนักช่วยเหลือจากทุกมุมโลกเดินทางไปรวมตัวกันที่นี่โดยไม่ได้นัดหมาย

ขณะที่รัฐบาลมองเห็นลู่ทาง ทำตำนานครั้งสำคัญนี้ กระจายเผยแพร่ไปทั่วโลก เพื่อสร้างชื่อและกระตุ้นให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทั่วโลกรู้จัก ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัส

หลังจากยึกยักยืดเยื้ออยู่นานเกือบ 1 ปีครึ่ง หนังฟอร์มยักษ์เรื่องแรกก็ได้ฤกษ์เข้าฉายในโรงหนังบ้านเรา พร้อมทำรายได้วันแรก 21 พฤศจิกายน 2562 แค่ล้านกว่าๆ เทียบกับฟรอสเซน หนังอนิเมชั่นเรื่องดัง ที่ฟันรายได้ไปเกือบสิบล้านบาทในวันเดียวกัน

แม้แต่วันหยุด เสาร์ 23 พฤศจิกายน วันที่ 3 ที่เข้าฉาย ก็ทำเงินได้เพียง 1.8 ล้านบาท ขณะที่ฟรอสเซนทำไปอีก 18.8 ล้านบาท

สาเหตุที่ยอดแป้ก ไม่ใช่เพียงเพราะล่าช้าจนอารมณ์อยากดูของคนดูหมดไปแล้วเท่านั้น แต่ยังปัจจัยอื่นที่มีส่วนกำหนดจนล้มเหลวเรื่องรายได้ในตอนต้น

หนังขาดการโปรโมท โดยเฉพาะจากภาครัฐ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ


ฟังจากทอม วอลเลอร์ นักเขียน ผู้กำกับ และผู้สร้างหนัง เดอะเคฟ นางนอน ลูกครึ่งไทย-ไอริช ซึ่งมีผลงานรางวัลในระดับเทศกาลหนังนานาชาติมาแล้วหลายเรื่อง สะทัอนปํญหาและอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่การขออนุญาต และขั้นตอนการเดินเรื่องถ่ายทำ ซึ่งยากลำบาก ไม่รู้ต้องคุยกับใครจึงจะได้คำตอบที่ชัดเจน แม้แต่การขออนุญาตเข้าไปถ่ายทำในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ต้องใช้เวลารอคอยข้ามปี

แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายอย่างสวนทางกับที่รัฐบาลประกาศไว้ ตั้งแต่ห้ามพบห้ามสัมภาษณ์ 13 หมูป่าตัวจริง เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากเด็กและไม่ต้องการไปสะกิดแผลทางใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับมีสื่อต่างประเทศบางสำนักไปสัมภาษณ์ได้ รวมทั้งให้เด็กทีมหมูป่าไปเปิดตัวมุดถ้ำในงานแสดงนิทรรศการที่พารากอน



แต่สำหรับเขาและทีมงานกลายเป็น "ของต้องห้าม" ไม่เคยได้พูดคุยกับเด็กๆเลย ทำให้เขาต้องตัดสินใจนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านจิม วอร์นี หนึ่งในชุดดำน้ำจากเบลเบียมที่เป็นฮีโร่นำทีมช่วยทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำหลวงได้สำเร็จ เป็นตัวเดินเรื่อง เนื่องจากเขาได้มีโอกาสพบปะพูดคุยเรื่องรายละเอียดต่างๆ ในเหตุการณ์มากที่สุด แทนการนำเสนอผ่านทีมฟุตบอลหมูป่า

ทั้งนี้ การนำเสนอเรื่องราวผ่านตัวบุคคลหนึ่ง ที่ถูกกำหนดให้เป็นคนเด่นของเรื่อง ก็เป็นแนวทางที่หนังฮอลลี่วู้ด หรือแม้หนังทุนเล็กทั่วไป ยึดเป็น "พล๊อตเรื่อง" ไว้อยู่แล้ว

ตรงนี้เป็นประเด็นที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯลำปาง อดีตผู้ว่าเชียงรายขณะเกิดเหตุการณ์ หยิบยกขึ้นเป็นตัวอย่างหนึ่งในการวิพากษ์วิจารณ์หนังเรื่องนี้ในเชิงไม่เห็นด้วย แต่น่าจะเน้นไปที่เรื่องความสมัครสมานท์กันของผู้คนทั้งโลกจะดีกว่า

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ช่วงท้ายของการวิพากษ์ ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ก็แสดงความเห็นใจทอม วอลเลอร์ กับเงื่อนไขต่างๆที่เป็นอุปสรรคอยู่มากมาย

เสียงวิพากษ์ของผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์ ซึ่งเป็น ผบ.เหตุการณ์ช่วยชีวิต 13 หมูป่า ที่สร้างความประทับใจให้กับประชาชนในเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อผสมผสานกับข่าวดราม่าสีสัน เช่น ทีมสูบน้ำท่อพญานาค จากจังหวัดนครปฐมถูกไล่กลับไปใหญ่ที่บ้าน รวมทั้งการอาสาช่วยทำอะไร ต้องกลับไปยื่นเรื่องขออนุญาตในตัวเมืองก่อน ได้มีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนจำนวนไม่น้อย ออกมาเคลื่อนไหว แสดงท่าทีจะไปดูหนังเรื่องเดอะ เคฟ นางนอน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรกันแน่?

ส่งผลให้หนังเดอะ เคฟ นางนอน ที่ดำผุดดำว่ายจะจมแหล่มิจมแหล่ในตอนออกสตาร์ท ดูคึกคัก กลับมาเป็นเรื่องฮ็อตฮิตของผู้คนอีกจนได้

หรือใครว่า ปาฏิหาริย์เจ้าหญิงแห่งดอยนางนอนในอดีตที่เล่าขานกัน จะเป็นเพียงนิทาน ไม่มีจริง!

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก The Cave - นางนอน