สถาบันจิตเวชฯยังไม่สรุปหนุ่มฆ่าหั่นศพแม่ป่วยเป็นอะไร

2019-11-26 13:05:37

สถาบันจิตเวชฯยังไม่สรุปหนุ่มฆ่าหั่นศพแม่ป่วยเป็นอะไร

Advertisement

ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาเผยยังไม่สามารถระบุได้หนุ่มก่อเหตุฆ่าหั่นศพแม่ป่วยเป็นอะไร เหตุมารักษาแค่ 2 ครั้ง แจงคนไข้ที่มีอาการป่วยทางจิตก่อเหตุทำร้ายคนอื่นเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก มีแค่ 3 อาการ

จากคดีสะเทือนใจ นายศิระ สมเดช หรือ กาย อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก่อเหตุฆ่าหั่นศพมารดา น.ส.ยุรีย์ เถาวัลย์ หรือ ติ๊ก อายุ 42 ปี นำชิ้นส่วนยัดใส่ตู้เย็น ภายในทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. ก่อนใช้ปืนยิงศีรษะตัวเองอาการสาหัสและไปเสียชีวิตที่ รพ. ซึ่งมีรายงานว่านายศิระ มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทั้งหมด สน.ท่าข้ามได้เร่งสืบสวนสอบสวนหามูลเหตุในการก่อเหตุ ในขณะที่เพื่อนของนายศิระ ได้โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตว่า เพื่อนถนัดซ้ายแต่ทำไมตอนยิงตัวตายใช้มือขวา ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ข้อมูลจากทางตำรวจจะระบุว่า นายศิระเป็นคนไข้รับการรักษาที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าป่วยอะไร เนื่องจากอยู่ในกระบวนการเริ่มต้นรักษา โดยคนไข้มารักษาแค่ 2 ครั้งเท่านั้น จึงยังไม่สามารถระบุอะไรได้ และอาจเป็นได้ว่าเพิ่งรับยาไปไม่นาน ทั้งนี้ คนไข้ที่มีอาการป่วยทางจิต จะก่อเหตุทำร้ายคนอื่นถึงแก่ความตายนั้น ยืนยันว่า มีเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมาก มีแค่ 3 อาการเท่านั้น ได้แก่ 1.ป่วยเป็นโรคจิต มีอาการหูแว่ว ประสาท หลอน สูญเสียการสั่งการ กระทำโดยไม่รู้ตัว 2. มีอาการใช้สารเสพติดร่วมด้วย ทำให้เกิดการกระทำรุนแรง 3. มีความผิดปกติทางบุคคลภาพ ถึงจะกระทำรุนแรงกับผู้อื่นได้

นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่การกระทำรุนแรงในผู้ป่วยทางจิต เกิดจากความหวาดระแวง กลัวคนมาทำร้าย และไม่สามารถควบคุมตนเอง ต้องใช้ยาระงับ ปัจจุบัน ในการรักษาอาการทางจิต มีความก้าวหน้าไปมา มีทั้ง ยาฉีด ยารับประทาน แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคนไข้ต้องไม่ขาดยา สำหรับครอบครัว ที่มีผู้ป่วยทางจิต ทางจิตแพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวกับญาติ หรือคนใกล้ชิดเสมอว่า ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เวลาไหนมีอารมณ์โกรธ หรือ กระทำอย่างไรที่จะก่อให้เกิดการกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์รุนแรง