ลูกฆ่าหั่นศพแม่ สังคมป่วยหนักต้องเร่งรักษา (คลิป)

2019-11-26 20:00:03

ลูกฆ่าหั่นศพแม่ สังคมป่วยหนักต้องเร่งรักษา (คลิป)

Advertisement


มองในเชิงอาชญกรรม อาจคิดว่าเป็นเพียงคดีธรรมดาทั่วไปคดีหนึ่ง


แต่หากมองในเชิงสังคม จะพบความไม่ธรรมดาหลายอย่าง ตั้งแต่ลูกมาตุฆาตผู้เป็นมารดา ซึ่งถือว่าเลวร้ายมาก

แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้น คือการเสื่อมถอยสะท้อนสังคมยุค 4.0 ที่กำลังก้าวเข้าสู่ 5.0 ท่ามกลางความไร้ราก ไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยว ลงมือได้แม้แต่แม่ตัวเอง

ความจริง สังคมไร้ราก ขาดความผูกพันธ์ที่แน่นแฟ้น แยกแยะไม่ออกว่าอะไรเลวอะไรดี มีเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่คนทั่วไปไม่ใส่ใจ เพราะมัวหมกมุ่นอยู่กับโลกของตัวเอง

เป็นมนุษย์ก้มหน้า อยู่กับโลกเสมือนจริงแต่ไม่ใช่ของจริง สืบเสาะหาเรื่องใคร่อยากรู้ไปเรื่อยๆ แต่แยกแยะไม่ออกว่าอะไรจริงอะไรเทียม อยู่ในโลกของจินตนาการ อยากได้ใคร่มี อยากสวยอย่ากหล่อ ซื้อของดีราคาถูก หวังใช้ชีวิตเลิศหรู เสาะหากิน-เที่ยว-ช็อป สลับกับโพสต์ภาพและข้อความอวดใครๆ เกรงจะน้อยหน้า

ยังมีมากที่ใช้สมาร์ทโฟนแสวงหาความร่ำรวยแบบชั่วข้ามคืน หวังพบเทพบุตรสุดหล่อ หรือเทพธิดาสุดสวย ลูกมหาเศรษฐีเข้ามาเกี่ยวพันจนชีวิตพลันเปลี่ยนแปลงในบัดดล จึงมีไม่น้อยที่ต้องกลายเป็นเหยื่อแก๊ง 18 มงกุฎ

นี่เป็นพฤติการณ์ของผู้คนส่วนใหญ่ในยุคสมัยปัจจุบัน สังคมปฐมภูมิที่เคยเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์พื้นฐานในอดีต แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน จึงเริ่มห่างหายไป แม้แต่ในวงกินข้าวร่วมกัน แทนที่จะพูดคุยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนก่อน กลายเป็นต่างคนต่างกิน สลับกับเปิดดูและเขียนข้อความผ่านแอพต่างๆ ถึงคนอื่นที่อยู่นอกวงแทน

จึงเป็นที่มาของความไร้รากสำหรับยึดหรือเหนี่ยวรั้งไว้ ในยามที่มีปัญหาเกิดขึ้น แทนที่จะได้หารือให้กำลังใจกัน กลับต่างคนต่างอยู่ หลบมุมคิดและเผชิญปัญหาเพียงลำพัง

อาการซึมเศร้าและต่อเนื่องเป็นโรคซึมเศร้าจึงตามมาในที่สุด


ตัวเลขจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2561 ระบุคนไทยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 3% หรือ 1.5 ล้านคน และในจำนวนนี้มีมากกว่า 50% ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษาเยียวยา ซึ่งรวมถึงการกินยา ควบคุมสารสื่อประสาทให้ทำงานเป็นปกติ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

โรคซึมเศร้าหากไม่รักษาเยียวยา จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย จึงเกิดคำถามกรณีนักศึกษาฆ่าหั่นศพแม่ตัวเองที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ว่า ใช่เป็นเพราะโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่

หลังจากแพทย์จากสถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา ระบุว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่คนซึมเศร้าจะไปฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น

แต่สำหรับการทำร้ายคนอื่น น่าจะเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิต หรือจิตเวช มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ได้รับสารเสพติดหรือพิษสุราไปกระตุ้นประสาท ให้ไปลงมือทำร้ายคนอื่น

ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับชายวัย 41 ปีที่อ่างทอง ใช้มีดปักหลังทำร้ายวัยรุ่นวัย 15 ปี ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับกรณีนักศึกษาฆ่าหั่นศพแม่ยัดตู้เย็น โดยญาติระบุว่า เป็นผู้ป่วยจิตเวช ขาดยามาหลายวัน

ผู้ป่วยจิตเวช ไม่ได้หมายถึง "คนบ้า" อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่อาการเกิดจากความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ ความรูสึก ซึ่งการเยียวรักษา ก็ต้องใช้เวลาและปัจจัยอื่นๆ อาทิ สัมพันธภาพ ความเข้าอกเข้าใจ การรักษาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์สามารถตรวจพิสูจน์ได้ ต่างจากไสยศาสตร์ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้

การแสดงออกของผู้ป่วยจิตเวช จะมีหลากหลายพฤติการณ์ ตั้งแต่ซึมเศร้า เหม่อลอย ไม่สุงสิงกับใคร หรือพูดไม่หยุด ซ้ำซากวนเวียน โมโหง่าย เอะอะโวยวาย ทำลายข้าวของ ไปกระทั่งถึง ทำร้ายคนอื่น

แม้จะแตกต่างจากผู้ป่วยซึมเศร้า แต่อาการและสาเหตุที่มาของอาการป่วยจิตเวช ก็มีบางอย่างคล้ายคลึงหรือสอดคล้องกัน โดยเฉพาะด้านทางจิตใจ อันเป็นผลจากความผิดหวังรุนแรง หรือฝังใจฝังใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การแยกตัวออกจากผู้คนและสังคม

การยับยั้งสะกัดกั้นไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือจิตเวช ปฐมบทจึงต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคลคนนั้นๆ เป็นสำคัญ ว่าจะเลือกโดดเดี่ยวหาทางออกด้วยตัวเองคนเดียว หรือจะเปิดใจกล้าปรึกษาหารือคนอื่นโดยไม่ปิดกั้นตัวเอง และกล้าทำในสิ่งที่ควรกล้า

ไม่ใช่หวังให้ญาติๆ หรือคนใกล้ชิดคอยดูแลให้กำลังใจฝ่ายเดียว โดยตัวเองไม่พยายามปรับตัว หรือหาทางพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

ในเมื่อรู้ทั้งรู้อยู่ว่า สังคมไทย (และอีกหลายประเทศในโลก) กำลังป่วยหนัก ไร้รากยึดเหนี่ยว ทุกคนทุกฝ่ายจึงต้องตระหนักเร่งหาทางแก้ไขเยียวยา

อย่าลืมท่องจำบทสุภาษิตโบราณที่ว่า "ตนเป็นทีพึ่งแห่งตน" แล!