โฆษกกรมสุขภาพจิตขออย่าตีตราผู้ป่วยจิตเวชต้องทำร้ายคนอื่น (คลิป)

2019-11-26 11:05:10

โฆษกกรมสุขภาพจิตขออย่าตีตราผู้ป่วยจิตเวชต้องทำร้ายคนอื่น (คลิป)

Advertisement

โฆษกกรมสุขภาพจิตไม่อยากให้สังคมตีตราผู้ป่วยจิตเวชต้องทำร้ายคนอื่น ชี้ผู้ก่อคดีส่วนใหญ่คือคนทั่วไป 80 - 90% ไม่ใช่ผู้ป่วย ระบุโรคซึมเศร้าหายได้หากรักษาอย่างถูกวิธี

จากคดีสะเทือนใจ นายศิระ สมเดช หรือ กาย อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก่อเหตุฆ่าหั่นศพมารดา น.ส.ยุรีย์ เถาวัลย์ หรือ ติ๊ก อายุ 42 ปี นำชิ้นส่วนยัดใส่ตู้เย็น ภายในทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กทม. ก่อนใช้ปืนยิงศีรษะตัวเองอาการสาหัสและไปเสียชีวิตที่ รพ. ซึ่งมีรายงานว่านายศิระ มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทั้งหมด สน.ท่าข้ามได้เร่งสืบสวนสอบสวนหามูลเหตุในการก่อเหตุ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ทีมข่าวนิว18 ได้พูดคุยกับ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นหากจะวิเคราะห์ว่าผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยหรือไม่นั้น ต้องรอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตที่แท้จริงหากดูจากสถิติเหตุการณ์ฆาตกรรมหรือคดีสะเทือนขวัญต่างๆ แล้วจะพบว่ามีผู้ก่อคดีที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงอยู่เพียง 10 - 15% เท่านั้น นอกนั้นคือคนทั่วไปประมาณ 80 - 90% ความเข้าใจที่ว่าผู้ป่วยจิตเวชมักจะก่อความรุนแรงนั้นความจริงเป็นคนทั่วไปเสียส่วนใหญ่

นพ.วรตม์ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรง 10 - 15% กลุ่มนี้ มีอาการรุนแรงอยู่ในระดับ เช่น เกิดอาการเห็นความเป็นจริงผิดเพี้ยนไป มีอาการหูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง มีโรคจิตเวชซับซ้อน มีหลายโรคร่วมกัน มีปัญหาด้านบุคลิกภาพต่อต้านสังคมเข้ามาร่วมด้วยหรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตร่วมกับการใช้ยาเสพติดต่างๆ ที่ทำให้เกิดก่อความรุนแรงได้ กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่รุนแรงและมีความเสี่ยง แต่หากเป็นกลุ่มที่มีโรคจิตเวชที่ไม่มีความรุนแรง เช่น โรคซึมเศร้าทั่วไปที่คนส่วนมากเป็น หรือแม้แต่โรควิตกกังวล ไบโพลาร์ โรคกลุ่มนี้หากดูแลต่อเนื่องรักษาต่อเนื่องอาการมักไม่รุนแรงและคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะทำร้ายตนเอง เพราะมักเก็บตัวไม่อยากเจอผู้คนโอกาสที่จะทำร้ายตนเองจึงมีมากขึ้น หากมองถึงการจะทำร้ายคนอื่นโอกาสที่เกิดขึ้นแทบไม่ได้ต่างจากคนทั่วไปนัก อยากให้สังคมเข้าใจใหม่ว่าไม่อยากให้ตีตราว่าผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตจะเป็นต้นเหตุที่ก่ออาชญากรรมทั้งหลาย ทั้งนี้คดีนี้ต้องรอเวลาในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า หากคนใกล้เราเป็นโรคซึมเศร้า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราจะต้องเข้าใจในสิ่งที่ตัวเขาเป็นหากเราไม่ได้ใกล้ชิดเขาก็จะไม่มีโอกาสที่ได้สังเกตอาการ ต้องใกล้ชิดและมีการพูดคุยบ่อยๆ มีการใช้เวลารับฟังผู้ป่วย เพื่อที่เราจะได้สอดสองว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติไปหรือไม่ หากพบว่ามีอาการผิดปกติ เช่น มีช่วงเวลาที่เริ่มหงุดหงิดมากขึ้น มีความก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการเศร้าเสียใจมากขึ้น คนใกล้ตัวก็จะสังเกตได้ทันเพื่อสอดส่องดูแลเข้าใจและเข้าไปพูดคุยใส่ใจรับฟัง ให้ผู้ป่วยเกิดความไว้วางใจเชื่อใจคนใกล้ตัวสามารถแนะนำผู้ป่วยให้ไปรักษาต่อได้ หรือหากว่าเห็นว่าอาการเกิดความรุนแรงสามารถส่งต่อไปให้บุคลากรทางการแพทย์ หรือจิตแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลใกล้เคียง หรือสามารถปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หาคนใกล้ตัวสามารถทำได้ครบตามนี้ก็จะสามารถ ปกป้อง ป้องกันให้ผู้ป่วยไม่ก่อปัญหาความรุนแรงหรือไม่ถูกคนอื่นละเมิดลิขสิทธิด้วยเช่นกัน