2 นักวิจัยคว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

2019-11-21 18:50:26

2 นักวิจัยคว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

Advertisement

เปิดชื่อ 2 นักวิจัยคว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล “นักวิจัยจากเยอรมนี” ค้นพบวิธีวงจรชีวิตของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จนนำมาสู่การพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นใหม่ ส่วน “คุณหมอจากอังกฤษ” ค้นพบการตาบอดจากโรคริดสีดวงตาเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัล ในวันที่ 30 ม.ค.2563 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง


ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปีนี้มีผู้เสนอชื่อเข้ารับการพิจารณา 66 คน จาก 35 ประเทศ ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ คือ ศ.ดร.ราล์ฟ เอฟ ดับเบิ้ลยู บาร์เทนชลากเกอร์ หัวหน้าภาควิชาโรคติดเชื้อ อณูไวรัสวิทยา มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก และหัวหน้าหน่วยไวรัสที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งเยอรมนี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จากการค้นพบวิธีวงจรชีวิตของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี จนนำมาสู่การพัฒนายาต้านไวรัสตับอักเสบซีรุ่นใหม่ คือดีเอเอ (DAA : direct acting antiviral) รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีแบบเรื้อรัง ให้หายได้ถึงร้อยละ 95 มีผลข้างเคียงน้อยลง ซึ่งทั่วโลกมีคนติดเชื้อฯ ประมาณ 71 ล้านคน นำไปสู่การโรคตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตประมาณ 4 แสนคนต่อปี ทั้งนี้แม้ยาราคาแพง แต่มีโครงการให้ยาผู้ยากไร้ที่ติดเชื้อทำให้มีผู้เข้าถึงยา 1.5 ล้านคน ส่วนประเทศไทยยานี้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้คนไทยทุกสิทธิเข้าถึงการรักษา 


ศ.นพ.เดวิด เมบี

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.นพ.เดวิด เมบี ศาสตราจารย์สาขาโรคติดต่อ และภาควิชาวิจัยคลินิก วิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร จากการค้นพบการตาบอดจากโรคริดสีดวงตาเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คลามิเดีย ทราโคมาติส ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ผ่านสารคัดหลั่ง ทำให้ทั่วโลกมีคนตาบอด 1.9 ล้านคน และศึกษาต่อถึงการรักษาด้วยยาเอซิโทรมัยซิน 1 ครั้งได้ผลดี ถ้าให้ยานี้แบบครอบคลุมประชากรจำนวนมากจะช่วยกำจัดโรคได้ จึงนำไปสู่นโยบายขององค์การอนามัยโลก ที่จะกำจัดโรคริดสีดวงตา ไม่เป็นสาเหตุของการตาบอดทั่วโลกให้หมดภายในปี 2568 ด้วยโปรแกรมเซฟ (SAFE) คือการควบคุมโรคโดยการผ่าตัด (surgery),การรักษาแบบครอบคลุมด้วยยาปฏิชีวนะ (antibiotic), ส่งเสริมการล้างหน้า (face washing) และ การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย (environment) ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2542 – 2560 มีการให้ยานี้ 700 ล้านโดส สำหรับประชาชนใน 40 ประเทศ ซึ่งขณะนี้มี 13 ประเทศ ที่รายงานว่ากำจัดโรคริดสีดวงตาได้สำเร็จแล้ว