เชียงราย "น้ำโขงแห้ง" ตลอดสาย จี้รัฐเร่งเจรจาจีน

2019-11-13 12:30:45

เชียงราย "น้ำโขงแห้ง" ตลอดสาย จี้รัฐเร่งเจรจาจีน

Advertisement

น้ำโขงยังแห้งกระทบตลอดสายชายแดนเชียงราย ภาคประชาชนจี้รัฐเร่งเจรจาจีนแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์แม่น้ำโขงที่แห้งจนกระทบกับหลายภาคส่วน ว่า แม่น้ำโขงตั้งแต่บริเวณพื้นที่แก่งไก่ บ้านแก่งไก่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่ทางการจีนมีแนวคิดที่จะระเบิดเกาะแก่งเพื่อเปิดเส้นทางน้ำเพื่อการเดินเรือแต่ถูกทางภาคประชาชนไทยคัดค้านจึงล้มเลิกโครงการไป ยาวไปถึงชายแดนบ้านห้าดบ้าย ของ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ยังคงอยู่ในสภาพที่แห้งและตื้นเขินบางช่วงมีสันดอนทรายและส่วนใหญ่จะมีโขดหินโผล่ขึ้นเหนือน้ำอย่างเห็นได้ชัดเกือบเต็มลำน้ำโขง โดยมีร่องลึกเพียงเล็กน้อย แม้ทางการจีนจะเพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนจีนบางช่วงขึ้นไปที่ 1,200 ลูกบาศก์เมตร์ต่อวินาที แต่ก็มีการลดปริมาณลงเหลือเพียง 800 ลูกบาศก์ต่อวินาทีในวันเดียว จึงทำให้ระดับน้ำโขงแม้เพิ่มมาจากหลายวันก่อนที่มีระดับเพียง 1.82 เมตร แต่ก็ยังมีระดับไม่ถึง 2 เมตรโดยเพิ่มขึ้นอยู่ระดับเพียง 190 เมตรเท่านั้น ซึ่งทำให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ไม่สามารถใช้สัญจรได้ ขณะที่เรือขนาดกลางและขนาดเล็กคนขับต้องอาศัยความชำนาญและฝีมือในการขับเรือผ่านโขดหินและสันดอนทรายและต้องอาศัยร่องน้ำลึกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสน้ำ จึงทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่าจากการติดตามระดับในแม่น้ำโขงในปีนี้ พบความผิดปกติเป็นอย่างมาก เพราะระดับน้ำมีการผันผวนตลอดเวลา มีขึ้นและลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งปรากฎการณ์แบบนี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติแน่นอน แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการจัดการของเขื่อนของจีนที่อยู่ต้นน้ำ มีการกักน้ำและปล่อยน้ำ โดยเฉพาะช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จีนมีการระเบิดเกาะแก่งทางตอนบน ทำให้น้ำแห้งมาก การที่จีนแจ้งปริมาณการปล่อยน้ำจึงไม่ใช่ทางออกหรือคำตอบสำหรับปัญหานี้ สิ่งที่จะต้องมาพูดคุยกันคือเขื่อนของประเทศจีนและเขื่อนของไชยบุรีของ สปป.ลาว จะต้องมาหารือกันแก้ปัญหาเพราะทั้งสองมีส่วนได้ส่วนเสียจากการลงทุนสร้างเขื่อน และกลุ่มผู้อยู่ใต้น้ำที่้ได้รับผลกระทบเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามฤดูกาล ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีเวทีพูดคุยกันเลย




นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่าปัจจุบันฤดูฝน ไม่ได้มีฝนตก ฤดูแล้งก็ไม่แล้งเหมือนเช่นเดิม จึงมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ การวางไข่ของปลาก็เปลี่ยนไป เพราะปกติฤดูฝนน้ำจะต้องหลากแต่เขื่อนควบคุมน้ำไม่ให้หลากทำให้ไม่มีน้ำขึ้นไปสู่แม่น้ำสาขาได้ ทำให้ปลาจึงไม่สามารถขึ้นไปวางไข่เพื่อขยายพันธุ์ได้ ขณะที่หน้าแล้งกลับปล่อยน้ำเมื่อไม่มีสันดอนทรายไม่มีโขดหินนกก็ไม่มีที่วางไข่ พันธุ์พืชสมุนไพรต่างๆ รวมทั้ง พืชสำคัญของน้ำโขงก็ไม่เกิด ระบบรวนไปหมด แหล่งอาหารของทั้งคนและทั้งปลาก็ไม่มีตามไปด้วย ทุกวันนี้แนวคิดการจัดการแม่น้ำโขงสวนทางกันจีนคิดเพียงกักน้ำปล่อยน้ำเพื่อการเดินเรือและการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่คนลุ่มน้ำโขงคิดว่าระดับน้ำต้องเป็นไปตามฤดูกาล

นายนิวัฒน์ กล่าวต่อว่าวันนี้มีการแต่พูดถึงเรื่องการปล่อยน้ำและการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้องเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุและไม่คุ้มค่ากับแม่น้ำโขงที่เสียหายไป ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ปัญหาแม่น้ำโขงเกิดขึ้นมานับตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนแรกจนเริ่มหนักขึ้นมาหลังจากสร้างเขื่อนที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จนปัจจุบันสร้างมาจนครบเกือบ 11 เขื่อนแล้ว โดยเขื่อนสุดท้ายทราบว่าเป็นเขื่อนกาหลันป้า ในเขตเมืองสิบสองปันนาหรือเมืองเชียงรุ้ง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเขื่อนนี้จะกระทบหนักกว่าทุกเขื่อนเพราะอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด จะมีผลกระทบจากเขื่อนเร็วขึ้นจากเดิมที่การปิดเปิดเขื่อนจะมีผลภายหลังประมาณ 2-3 วัน แต่เขื่อนกาหลันป้าอาจมีผลในทันทีหรือภายในวันเดียวเมื่อมีการเปิดปิดเขื่อน หากยังไม่มีการหยุดสร้างเขื่อนจะกระทบอย่างใหญ่ต่อประเทศไทยในภาคเหนือและภาคอีสานที่มีการใช้ประโยชน์แม่น้ำโขงถึง 8 จังหวัด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน ภาครัฐไม่เคยให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเท่าเทียม โดยมองแต่การบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพะยา ทั้งที่สายน้ำดังกล่าวมีความจำเป็นและเป็นหัวใจสำคัญของคนลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง