"มาร์ค-อภิสิทธิ์" มาแล้ว ปชป. จ่อจองผลงานแก้ รธน.

2019-11-04 18:00:58

"มาร์ค-อภิสิทธิ์" มาแล้ว ปชป. จ่อจองผลงานแก้ รธน.

Advertisement

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่  1 ของพรรคประชาธิปัตย์ หลังพาพรรคพ่ายแพ้เลือกตั้ง ส.ส. 24 มีนาคม 2562 อย่างยับเยิน

ได้ ส.ส. ต่ำกว่าหนึ่งร้อยคน หลังพยายามสร้างขั้วการเมืองที่ 3 ให้ประชาชนเลือก โดยประกาศไม่หนุน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคเพื่อไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากขั้วพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรี


กลับบ้านไปเลี้ยงแมวอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเดินสายกิจกรรมเชิงการเมืองอย่างเงียบๆ ไปอภิปรายและบรรยายเรื่องการเมืองบ้าง โปรโมทผลงานฝีมือศิลป์ลูกสาวบ้าง หรือลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐมบ้าง


ก่อนจะกลับมามีชื่อปรากฎอยู่บนหน้าสื่อ ว่าจะเป็นตัวแทนจากพรรค ปชป. ไปนั่งกรรมาธิการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สภาฯจ่อตั้งขึ้น หลังญัตติศึกษาแก้ไข รธน.ผ่านวาระรับหลักการแล้ว

มิหนำซ้ำ มีข่าวถูกคาดหมายว่า จะไม่ใช่แค่กรรมาธิการธรรมดา แต่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญในชุดนี้ด้วย

คงจำกันได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. เป็นคนนำพาพรรค ปชป. ประกาศไม่รับร่าง รธน. ปี 2560 มาแล้ว และยังประกาศจุดยืนแก้ไข รธน. ปี 2560 ร่วมกับอีกหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคร่วมฝ่ายค้าน บนเวทีหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 มาแล้ว

จึงมีเสียงขานรับเป็นอย่างดีจาก ส.ส. และแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่สนับสนุนให้เขาเข้าร่วมเป็น กมธ. เผลอๆอาจหนุนให้เป็นประธาน กมธ. ด้วยซ้ำ เพราะเป้าหมายของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการหาเสียงที่ผ่านมา คือเรื่องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ยิ่งพรรคหลักๆ ด้วยแล้วถึงขั้นประกาศต้องแก้ รธน. ก่อน จึงจะแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้

พรรค ปชป. จึงเป็นพันธมิตรสำคัญของพรรคร่วมฝ่ายค้านสำหรับเรื่องนี้ ขณะที่พรรค ปชป. ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เพราะระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ "จัดสรรปันส่วนผสม" ทำให้พรรคได้จำนวน ส.ส. ลดลงอย่างน่าใจหาย ทั้งที่ระบบเลือกตั้งแบบเดิมในปี 2550 และ 2554 พรรค ปชป. ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำทั้งคะแนนเขตและบัญชีรายชื่อ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้ ที่เป็นฐานเสียงสำคัญ แม้แต่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกแบ่ง ส.ส. เขตไปโดยพรรคอื่น แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งจังหวัด ปชป. ก็ยังชนะอยู่ดี

นอกจากนี้ 1 ใน 3 เงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรค ปชป. ก็มีประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย

พรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ได้ยื่นญัตติต่อสภาฯ เสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากระบวนการแก้ไขรธน.แล้ว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ก่อนหน้าญัตติของพรรคปชป. แต่ยังไม่มีความชัดเจนจากพรรคพลังประชารัฐว่า จะยื่นเสนอญัตติด้วยหรือไม่ เนื่องจากเป็นพรรคแกนนำของรัฐบาล และการชงญัตติศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการหาทางปลดล็อคมาตรา 256 ว่าด้วยวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นประเด็นการเมือง ที่อาจถูกวิจารณ์โจมตีได้ โดยเฉพาะไม่สนใจหรือไม่ได้แสดงความจริงใจใดๆ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หลังจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยแสดงท่าทีผ่านคำพูดเพียงว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุน ซึ่งความหมายในเชิงการเมือง จะแตกต่างจาก "การเป็นผู้ริเริ่ม"

ยังไม่นับรวมถึง ตำแหน่งประธานของกรรมาธิการชุดดังกล่าว ซึ่งจะบทบาทสูงในด้านการประสานและขับเคลื่อน สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงและสร้างผลงานให้กับพรรคได้ เมื่อสามารถกรุยทางไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ได้สำเร็จในอนาคตข้างหน้า

ถ้าพรรค พปชร. ใจถึงมากพอที่จะไม่สนใจเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์และพรรค ปชป. มีสิทธิ์ฉลุยไปไกลแน่นอน