"อาเซียน-สหประชาชาติ" ร่วมเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อความเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ห้อง Sapphire 203 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 ภายหลังเสร็จสิ้น ศ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 เพื่อรับทราบความคืบหน้าและทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2016-2020 รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ และร่วมกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการดำเนินความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติตามแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยมีผู้นำ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และเลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วมประชุม
นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า อาเซียนและสหประชาชาติควรร่วมกันสนับสนุนและเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่สนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยไทยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติอย่างรอบด้าน อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การส่งเสริมบทบาทและสิทธิของสตรี เยาวชน ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง และการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ เป็นต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน และความยั่งยืนในทุกมิติแก่อาเซียนและระบบพหุภาคีนิยม
นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามอาเซียน ยินดีและชื่นชมที่ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติปี ค.ศ. 2016-2020 ไปกว่าร้อยละ 93 และเห็นว่า แผนปฏิบัติการฉบับใหม่ควรมุ่งเน้นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติผ่านการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ การส่งเสริมศักยภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การเสริมสร้างความแข็งแกร่งและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ การยกระดับการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยี และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย
ทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดน ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน เสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติ ผ่านความร่วมมือระหว่างศูนย์ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตลอดจนผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรวมถึง การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล ปัญหาขยะทะเลและการประเมินผลกระทบต่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติก รวมถึง มลพิษและหมอกควัน
สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันในการอำนวยความสะดวกทางการค้า สร้างเครือข่ายความเชื่อมโยง การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมการบริโภค การผลิต การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุความพยายามในการสร้าง “ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต”