แจ้งด่วนทำผิดกฎหมาย รับค่าปรับ กทม.กึ่งหนึ่ง

2017-08-15 13:45:41

แจ้งด่วนทำผิดกฎหมาย รับค่าปรับ กทม.กึ่งหนึ่ง

Advertisement

กทม.เชิญชวนประชาชนร่วมแจ้งเหตุ ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ทิ้งขยะในคูคลอง-ที่สาธารณะ หาบเร่ แผงลอย รับรางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการให้รางวัลนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้แจ้ง กรณีพบเห็นผู้กระทำผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแบ่งค่าปรับที่ ได้จากการเปรียบเทียบให้แก่ผู้แจ้งความนำจับตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งระเบียบดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการขับขี่รถจักรยานยนต์ บนทางเท้า การทิ้งขยะในคูคลอง การทิ้งขยะในที่สาธารณะ หาบเร่ แผงลอย

พล.ต.ท.อำนวย กล่าวต่อว่า หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดดังกล่าวสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ได้ทันที ผ่านทางช่องทางต่างๆ อาทิ โทรศัพท์สายด่วนสำนักเทศกิจ โทร. 0-2465-6644 ทางไปรษณีย์ สำนักเทศกิจ เลขที่ 1 ถนนเทศบาลสาย1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี 10600 และอีเมล์ citylaw_bma@hotmail.com โดยต้องมีหลักฐาน อาทิ ภาพถ่าย หรือวิดีโอที่แสดงถึงการกระทำผิดที่ชัดเจนประกอบด้วย เช่น หมายเลขทะเบียนรถคันที่กระทำผิด วัน เวลา และสถานที่กระทำผิด และบุคคลที่กระทำผิด สำหรับรางวัลนำจับที่ผู้แจ้งความจะได้รับจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าปรับนั้น จะได้รับภายหลังจากที่ผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบปรับแล้ว ซึ่งหากผู้ต้องหาชำระค่าปรับในวันเดียวกันผู้แจ้งความ ก็อาจจะได้รับรางวัลนำจับภายในวันเดียวกันด้วย หากผู้ต้องหามีการชำระค่าปรับภายหลัง เจ้าหน้าที่จะดำเนินการแจ้งผลการดำเนินการทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้ที่แจ้งความได้ทราบ เพื่อมารับเงินรางวัลนำจับต่อไป




สำหรับอัตราค่าปรับความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ 100 – 10,000 บาท โดยอัตราค่าปรับสูงสุดได้แก่ การทำความผิดโดยการบรรทุกสัตว์ กรวด หิน ดิน เลน ทราย สิ่งปฏิกูล มูลฝอย หรือสิ่งอื่นใด และไม่ป้องกันให้สิ่งดังกล่าวตกหล่น รั่วไหล ปลิว ฟุ้ง กระจายลงบนถนน หรือการไม่ป้องกันทำให้น้ำมันรั่วไหลลงบนถนน การตั้งวางกองวัตถุใดๆบนถนน การเทหรือทิ้งกรวด หินดิน เลน ทราย หรือเศษวัตถุก่อสร้างลงในทางน้ำหรือกองไว้ หรือทำให้ไหลหรือตกลงในทางระบายน้ำ การเท ปล่อย หรือระบายอุจจาระหรือปัสสาวะจากอาคารหรือยานพาหนะลงในทางน้ำ เป็นต้น