“ปิยบุตร” นำทีม กมธ. คุยสหรัฐแลกเปลี่ยนปัญหาบังคับใช้ ก.ม.

2019-11-02 18:20:56

“ปิยบุตร” นำทีม กมธ. คุยสหรัฐแลกเปลี่ยนปัญหาบังคับใช้ ก.ม.

Advertisement

"ปิยบุตร” นำทีม กมธ.กฎหมาย คุยผู้ช่วย รมต.ต่างประเทศ อุปทูตอเมริกา แลกเปลี่ยนปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย สิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ภาพกรณีได้พบกับเดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา (David R. Stilwell, Assistant Secretary of State for East Asian and Pacific affairs) พร้อมด้วย อุปทูตไมค์ ฮีธ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองด้านกฏหมาย ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาคโดยสมาชิก กมธ. ที่เข้าร่วมหารือได้แก่ นายสิระ เจนจาคะ นางสาวพรรณิการ์ วานิช นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ และนายรังสิมันต์ โรม

นายปิยบุตร ระบุว่า ได้เล่าถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ภายใต้กลไกรัฐสภาว่า มีการทำงานหลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมจากประชาชน 2. การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพูดคุยถกเถียงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายในสังคม 3. การเดินทางไปศึกษางานในพื้นที่ อาทิ สามจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ผู้ลี้ภัย การค้ามนุษย์ การซ้อมทรมาน โดยหวังว่า การทำงานของ กมธ. จะถือเป็นจุดเริ่มต้นให้สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมในประเทศไทยได้มีพี้นที่มากขึ้นทั้งในสภาฯ และในพี้นที่สาธารณะ หลังจากมีสถานการณ์เหล่านี้ถดถอยลงไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนสากลผ่านการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร พิจารณาให้การออกกฎหมายต่างๆ เป็นไปตามหลักปฏิบัติและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ


“นอกจากนี้ผมได้แลกเปลี่ยนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่สำคัญ ตัวอย่างเช่น การใช้กฏหมายเพื่อให้หยุดพูดหรือกลั่นแกล้งไม่ให้มีส่วนร่วม (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ สุดท้ายผมให้ความเห็นว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่มีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เป็นที่น่าเสียดายว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาความเป็นประชาธิปไตยของเราถดถอยลงไปมาก แต่ขณะนี้เรามีสภาผู้แทนราษฎรกลับมาทำหน้าที่แล้ว ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเราพร้อมจะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพี่อเดินหน้าให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคอีกครั้งหนึ่งให้ได้” นายปิยบุตร ระบุ

นอกจากนี้ ในทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของ กิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้ลงภาพการพบหารือ พร้อมระบุข้อความว่า “ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สติลเวลล์ ยินดีที่ได้มีโอกาสพบปะกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทย เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนอีกด้วย