"หม่อมเต่า" ยันไทยคุ้มครองสิทธิแรงงานยึดมาตรฐานสากล

2019-10-27 16:15:38

"หม่อมเต่า" ยันไทยคุ้มครองสิทธิแรงงานยึดมาตรฐานสากล

Advertisement

รมว.แรงงานชี้กรณีสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี ยืนยันประเทศไทยคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกคนยึดหลักมาตรฐานสากล

จากกรณีสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐประกาศว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี)กับสินค้าไทยคิดเป็นมูลราคา 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉียด 40,000 ล้านบาท โดยสินค้าที่อยู่ในรายการที่จะถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2563 มีมากถึง 573 รายการ โดยอ้างว่าไทยล้มเหลวในการจัดการสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบน 3 สารพิษพอดีนั้น


เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่กระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับ นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสินค้า (จีเอสพี) ของไทยในอีก 6 เดือน โดยอ้างว่าประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากลได้ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลคุ้มครองแรงงานทุกคน เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยทุกภาคส่วนได้บูรณาการการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลการดำเนินงาน ทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จมาก (Significant Advancement) ของสถานการณ์การขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ในปี 2560 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ยังได้ปรับสถานการณ์ปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 Watch List มาเป็นระดับ Tier 2 และสหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศปลดใบเหลืองไอยูยู ในส่วนของการรับรองอนุสัญญาฯ ต่อไอแอลโอ กระทรวงแรงงานได้ให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริม ค.ศ.2014 ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ.1930 และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อบังคับใช้กฎหมาย การช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากแรงงานบังคับ และกำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งการยื่นจดทะเบียนให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานภาคประมง ค.ศ.2007 ต่อไอแอลโอ เพื่อคุ้มครองแรงงานประมงให้ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ ประกันสังคม และความปลอดภัยในการทำงาน โดยจะมีผลบังคับใช่ในวันที่ 18 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกันยังได้พิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวกับการรวมตัวตั้งเป็นสหภาพแรงงานและเจรจาต่อรอง ซึ่งขณะนี้กำลังปรับปรุงกฎหมายเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและกฎษฎีกา รวมทั้งรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย  ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อให้การดูแลคุ้มครองแรงงานทุกคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากลต่อไป