อาการตาพร่ามัว รักษาได้

2019-10-26 06:00:17

อาการตาพร่ามัว รักษาได้

Advertisement

อาการตาพร่ามัว รักษาได้

อาการตาพร่ามัวเป็นอีกหนึ่งปัญหาของการมองเห็นผิดปกติ ผู้ป่วยจะมองภาพไม่ชัดเจน หรือเห็นภาพเลือนลาง ถ้าหากเป็นมากจะไม่สามารถจำแนกได้ว่าภาพนั้นคืออะไร ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยตรง อาการตาพร่ามัวยังเป็นสัญญาณอันตรายของโรคร้ายบางอย่าง ที่ทำให้เกิดภาวะพิการทางสายตาได้ อาทิ โรคต้อหิน โรคต้อกระจก เป็นต้น อาการตาพร่ามัวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หากได้รับการรักษาภายในเวลาที่เหมาะสม อาการดังกล่าวก็สามารถหายได้และป้องกันการเกิดโรคร้ายที่รุนแรงได้

ลักษณะของอาการตาพร่ามัว

การมองเห็นที่ผิดปกติในลักษณะของการมองภาพไม่ชัดเจน รวมถึงค่าสายตามีความผิดปกติแบบก้าวกระโดด ยกตัวอย่างอาการตาพร่ามัว ดังนี้

• วัตถุเดิมที่เคยมองเห็นชัดเจนกลายเป็นภาพเบลอ

• ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดภายในเวลาสั้น ๆ เช่น เคยวัดค่าสายตาพบว่าสั้น 200 หลังจากนั้นไม่กี่เดือนกลายเป็นสั้น 500

• มองเห็นแสงสะท้อน เช่น ขณะขับขี่ยานพาหนะเห็นภาพสะท้อนจนไม่สามารถขับขี่ต่อไปได้ หรือมองพระจันทร์แล้วเห็นเป็นเงาสะท้อน เป็นต้น

• มองใบหน้าคนเป็นฝ้ามัว หรือใบหน้าบุคคลนั้นความจริงแล้วมีสิวและริ้วรอยต่าง ๆ แต่กลับมองเห็นเป็นใบหน้าเนียนเรียบ

• มองตัวหนังสือไม่ชัดเจน ไม่สามารถอ่านหนังสือได้

• มองภาพสีสดใสกลายเป็นสีจาง

• มองภาพแคบลง เดินชน หรือขับรถชน ด้านข้าง

ความรุนแรงของอาการตาพร่ามัว

อาการตาพร่ามัว เป็นสัญญาณของความผิดปกติทางตา อาจนำไปสู่โรคต้อ ทั้งต้อกระจกและต้อหิน ที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดได้ในอนาคต หากได้รับการรักษาทันเวลาจะสามารถป้องกันอาการต้อรุนแรงได้ แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาจทำให้ตาบอดได้

วิธีทดสอบอาการตาพร่ามัวเบื้องต้น

• ผู้ทดสอบยืนห่างผู้ป่วย 3 เมตร

• ให้ผู้ป่วยปิดตาหนึ่งข้าง

• ผู้ทดสอบชูนิ้วให้ผู้ป่วยดู

• สอบถามผู้ป่วยว่าเห็นกี่นิ้ว และให้ผู้ป่วยตอบตามที่มองเห็น เพื่อทดสอบการมองเห็น

• หากคำตอบของผู้ป่วยไม่ตรงกับจำนวนนิ้วที่ชู หมายถึงตาข้างนั้นมีอาการพร่ามัวค่อนข้างมาก

อาการตาพร่ามัวและโรคต้อ

ผู้ป่วยที่มีอาการตาพร่ามัวบางรายอาจไม่สามารถมองเห็นได้เลย ต้องใช้มือคลำเพื่อช่วยเหลือตัวเอง เกิดจากเลนส์ตากลายเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ หรือในบางรายเป็นสีขาวขุ่น เปลือกหุ้มเลนส์พร้อมที่จะรั่ว หากเลนส์รั่วจะส่งผลให้น้ำโปรตีนในเลนส์ออกมาและกลายเป็นต้อหินได้ อาการระดับนี้เกิดจากการปล่อยทิ้งไว้นาน โดยไม่ได้รับการรักษา

ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคต้อกระจก

• แสงแดด 

• สารพิษและยาบางชนิด

• รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ร่างกายขาดวิตามิน ไม่รับประทานผักผลไม้

• อุบัติเหตุต่อตา

• การสูบบุหรี่

• การติดเชื้อในตา เป็นต้น.

ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคต้อหิน

• การซื้อยาหยอดตา หรือยากินบางชนิดมาใช้เองโดยเฉพาะกลุ่มเสตียรอยด์

• การอักเสบในตา

• ปล่อยให้อาการตาพร่ามัวจากต้อกระจก ดำเนินไปเป็นเวลานานโดยไม่รักษา

รศ. นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์ สาขาวิชาจักษุประสาทวิทยา

ภาควิชาจักษุวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล