เสวนารวบรวมข้อมูลทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป

2019-10-22 17:55:08

เสวนารวบรวมข้อมูลทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป

Advertisement

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเสวนารวบรวมข้อมูลก่อนทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป มีข้อกฎหมายที่ต้องพูดคุย เพราะปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และสงครามการค้าในต่างประเทศ หากไม่ทำจะส่งผลเสียด้านดุลการค้าให้กับประเทศในโซนยุโรป

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 ต.ค. นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเรื่อง "โอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป" โดยมีนายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผอ.วิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา น.ส.ชะเอม พัชนี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กระทรวงสาธารณสุข นายสุดเขต บริบูรณ์ศรี นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา นายจักรพันธ์ คงคาประดิษฐ์ นักวิชาการคลังชำนาญการ กรมบัญชีกลาง น.ส.ธิดากุล แสนอุดม ผอ.กลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ ที่ชั้น 2 โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยและสหภาพยุโรปได้เริ่มเจรจาจัดทำ FTA เมื่อปี 2556 มีการประชุมรวม 4 รอบ ก่อนที่สหภาพยุโรปจะมีมติชะลอการเจรจากับไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย และในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปมีท่าทีที่ชัดเจนว่า การฟื้นเจรจาเต็มรูปแบบกับไทยจะเกิดภายหลังไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น หลังจากการเลือกตั้งในไทยเมื่อเดือน มี.ค.2562 และการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือน ก.ค. 2562 จึงมีความเป็นไปได้ที่ไทยและสหภาพยุโรปจะกลับมาฟื้นการเจรจาอีกครั้ง และคาดว่าจะมีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง (คณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่) เข้ารับตำแหน่งในช่วงเดือน พ.ย. 2562 หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือน ธ.ค. 2562 ไทยและสหภาพยุโรปจึงยังจำเป็นต้องหารือเกี่ยวกับกระบวนการและช่วงเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะมีการฟื้นการเจรจาดังกล่าว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป มีกำหนดระยะเวลาโครงการ 5 เดือน (ก.ค. - พ.ย. 62) ครอบคลุมประเมินผลเชิงเศรษฐมิติ การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งในวันนี้ก็ได้เดินทางมารับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อจะได้รวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพราะการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน รวมถึงผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น หลังจากที่เสร็จสิ้นการสัมมนาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว ก็จะเดินทางไปที่ จ.สงขลา ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ 3 แล้ว และครั้งที่ 4 ก็จะจัดขึ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น

ทั้งนี้การจัดครั้งที่ 1 ที่ กทม. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยากเห็นการฟื้นเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปโดยเร็ว เพราะต้องการขยายตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น เพราะกังวลว่าหากไทยไม่ทำ FTA กับสหภาพยุโรปจะทำให้เสียโอกาสทางการค้าและโอกาสในการเป็นฐานการผลิต การกระจายสินค้า และการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปให้ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ที่มี FTA กับสหภาพยุโรปอยู่แล้ว แต่หลายปีที่ผ่านมาข้อกฎหมายของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการปรับกฎระเบียบที่จะกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และระบบสุขภาพ รวมทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม ก็ต้องมาดูข้อกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป ขณะนี้ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างการศึกษาและหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอระดับนโยบายพิจารณาต่อไป


นางอรมน กล่าวว่า ปัจจุบันไประเทศไทยต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจการค้าโลก จากสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และความไม่แน่นอนในสถานการณ์ Brexit ซึ่งไม่ส่งผลเฉพาะต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ในขณะที่สหภาพยุโรปเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตและมีกำลังซื้อสูง และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในประชาคมโลก โดยในปี 2561 สหภาพยุโรปมีประชากรรวมกว่า 500 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (Gross Demestic Product: GDP) 18.75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นคู่ค้าลำดับ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา และนักลงทุนอันดับ 4 ของไทย ในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์ยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้การจัดทำ FTA ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการผลักดันการค้าการลงุทน การดึงดูดการลงุทนจากต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างรายได้ให้ประชาชน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายผลักดันการเจรจาในกรอบต่างๆ อาทิ RCEP FTA ไทย-ศรีลังกา, ไทย-ปากีสถาน, ไทย-ตุรกี รวมถึงการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP และการฟื้นการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปดังกล่าว