กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดเสวนาภายใต้หัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าประเทศไทย 1 ปี หลังประชามติ" ซึ่งในงานมีนักวิชาการอย่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, รองศาสตราจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายอนุสรณ์ อุณณ์ คณบดีคณะสังคมวิทยา พร้อมกันนี้ยังมีนักเคลื่อนไหวและนักศึกษาอย่าง นายรังสิมันต์ โรม, นายอารีฟีน โสะ และตัวแทนจากกลุ่มองค์กร อาทิ นางกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ตัวแทนจากกลุ่มคนรักประกันสุขภาพ, สุนทร บุญยอด สภาองค์การลูกจ้าง ร่วมการเสวนาครั้งนี้
โดย รองศาสตราจารย์ พิชญ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องมาทบทวนกันคือ การทำประชามติสอดรับความจริงทางสังคมมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมารัฐยังคงมีอำนาจในการขัดขวางแนวทางการสกัดกั้นประชามติ หรือ การต่อต้านอย่างเด็ดขาด การเลือกตั้งที่ผู้นำรัฐบาลพยายามออกมากล่าวเสมอๆ ว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป ก็ยังไม่มีท่าทีจะเห็นว่าการเลือกตั้งจะเกิดเมื่อใด สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้นคือ การรัฐประหารล่าสุดไม่เน้นการแบ่งผลประโยชน์ แต่เป็นการสถาปนาโครงสร้างแนวใหม่ อาทิ อภินิหารทางกฎหมาย ที่เป็นการลบล้างบรรทัดฐานเดิมของกฎหมายที่มีอยู่ สร้างหลักการใหม่ให้เป็นกฎหมาย และไม่ได้หมายความว่ามีความยุติธรรมจริง
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยบุตร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังใช้ในขณะนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นฉบับที่ไม่ผ่านประชามติอย่างแท้จริง เพราะภายหลังการผ่านประชามติ ได้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาโดย สนช.อย่างต่อเนื่อง ทำให้หลักการของประชาชนที่ลงประชามติถูกบิดเบือนและถือเป็นคนละฉบับกับที่ไปทำประชามติ ขณะที่การรณรงค์ไม่รับประชามติขณะนั้นก็ถูกจำกัดสิทธิ์มากมายกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย
สอดคล้องกับ นายรังสิมันต์ หนึ่งในนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตย ได้กล่าวเช่นกันว่า ตลอดการทำประชามติจนถึงสิ้นสุดประชามติ มีการถูกปิดกั้นอย่างต่อเนื่อง แม้การรณรงค์จะเป็นแบบสร้างสรรค์ไม่ได้บิดเบือนก็ยังคงถูกดำเนินคดี มีการลุแก่อำนาจ ซึ่งคดีมีโทษที่สูงถึง 10 ปี เป็นโทษที่ย้อนแย้งกับคดีฆ่าคนตาย ดังนั้นจึงเป็นเครื่องชี้ชัดว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นคนละฉบับกับประชามติ ซึ่งยังผลให้เจตนารมณ์ประชาชนยังถูกทำลายไปด้วย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นการเกิดจาก คสช.โดยแท้จริง