สภาฯเห็นชอบ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ

2019-10-17 12:20:45

สภาฯเห็นชอบ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ

Advertisement

สภาฯเห็นชอบ พ.ร.ก. โอนอัตรากำลังพลฯ 376 เสียง ไม่เห็นด้วย 70 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ ได้มีการพิจารณา พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เป็นผู้เสนอและชี้แจงหลักการและเหตุผล ตอนหนึ่งว่า หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เป็นส่วนราชการในพระองค์ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่วางแผน อำนวยการ ประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม กำกับดูแลและปฏิบัติงานในการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลอื่นตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติและการรักษาความปลอดภัยจำเป็นต้องมีความพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดอัตรากำลังพลที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียบร้อย รวดเร็ว และเกิดความปลอดภัยสูงสุด  จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.ก. นี้

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ลุกขึ้นอภิปราย ระบุว่า การออกพระราชกำหนดตามอำเภอใจ คือการใช้ มาตรา 44 ขณะนี้ไม่มีอำนาจ มาตรา 44 แล้ว แต่รัฐบาลยังมีการออก พ.ร.ก. ดังกล่าว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมใช้อำนาจโดยไม่แยแสรัฐธรรมนูญ หากมีอะไรเกิดขึ้น ครม.ต้องรับผิดชอบ และการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีไม่ใช่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ พร้อมทั้งอย่ากล่าวหาคนอื่นว่าไม่จงรักภักดี

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายที่ประชุมได้มีการลงมติพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 376 ไม่เห็นด้วย 70 และงดออกเสียง 2 โดยมี ส.ส. เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 438 คน