ชำแหละ งบ'63 อย่าท่าดีทีเหลว

2019-10-16 20:00:25

ชำแหละ งบ'63 อย่าท่าดีทีเหลว

Advertisement

17 ตุลาคม 2562 การอภิปรายงบประมาณรายจ่ายรัฐบาล ประจำปี 2563 จะเริ่มต้นขึ้น หลังจากกระแสเรื่องนี้ ถูกโหมกระพือมานานพอสมควร ด้วยเหตุเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารราชการและขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาล


แม้รัฐธรรมนูญปัจจุบันจะหาทางออกไว้ให้ ในกรณี พ.ร.บ. งบประมาณล่าช้า คือให้ใช้งบประมาณปีปัจจุบันได้ แต่จะเป็นเฉพาะรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือนของข้าราชการเท่านั้น ขณะที่งบด้านพัฒนาและการลงทุนจะไม่สามารถทำได้

พ.ร.บ.งบฯ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก พอๆ กับที่รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา หากงบประมาณรายจ่ายไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ

ท่ามกลางปัจจัยประกอบที่ชวนหวาดเสียว คือเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะปรากฎข่าวแกนนำพรรคจิ๋วดอดไปพบแกนนำรัฐบาลทำเนียบฯ ข่าว 14 ส.ส. ฝ่ายค้าน แอบไปกินข้าวกับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ กระทั่งเรื่องงูเห่าที่ถูกหยิบมาพูดถึงกันอีกครั้ง

ความจริงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ที่ข่าวคราวประเภทนี้ จะมีปรากฎออกมาท่ามกลางสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพราะการตื่นตัวและหาทางรับมือของฝ่ายรัฐบาลเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เคยมีให้เห็นมาแล้วในอดีตอย่างน้อย 2 ครั้ง

คือหลังเลือกตั้ง ปี 2512 และหลังเลือกตั้งปี 2518 ที่มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นมากมาย รวมทั้ง ส.ส.ไม่สังกัดพรรคการเมือง

แม้การจัดตั้งรัฐบาลจะสามาถทำได้ โดยพรรคสหประชาไทย ของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2512 และพรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่มี ส.ส.เพียง 18 คนในปี 2518 แต่จำนวนเสียง ส.ส มีจำกัด และเต็มไปด้วยการต่อรองด้านผลประโยชน์ ครั้งกระนั้น ก็ใช้วิธีการเจรจาและดูแล ส.ส.ที่สื่อตั้งชื่อให้ว่า "พรรคผี" เพื่อคอยช่วยเหลือยกมือสนับสนุนในญัตติสำคัญเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลชนะเสียงโหวตในสภาฯ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดทั้ง 2 เหตุการณ์

ครั้งนี้ หากดูจากเสียงสนับสนุนของฝ่ายรัฐบาลที่มีเพียง 253 เสียง ก็ยิ่งน้อยกว่ารัฐบาลปี 2512 และ 2518 จึงต้องระมัดระวังและป้องกันเป็นพิเศษ

เป้าหลักที่ถูกคาดหมายว่าจะโดนฝ่ายคัาน "จัดหนัก" ใส่แน่นอน คือ งบของกลาโหมและกองทัพ ซึ่ง หากแยกตามประเภทยุทธศาสตร์แล้ว ด้านความมั่นคงจะมีมากที่สุด ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท

ตรงกับเจตนารมณ์ของ 2 พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่ และอีก 1 พรรคเล็กอย่างพรรคเสรีรวมไทย ที่ต่างชูธงปฏิรูปและลดขนาดกองทัพมาตั้งแต่ต้น

อีกประเภทหนึ่งคือ งบกลาง ซึ่งปีนี้มีสูงถึง 5 แสนล้านบาท งบกลางมักถูกเรียกอย่างประชดประชันว่า เป็นงบประเภท "ตีเช็คเปล่า" และเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นงบในโครงการที่ไม่สามารถใส่ในงบปกติของกระทรวงอื่น โดยเฉพาะด้านความมั่นคงอย่างกลาโหมหรือมหาดไทยได้ จึงโยกมาใส่ไว้ในงบกลางแทน รอนำไปใช้ทีหลัง

แม้นว่าในช่วงเวลาเกิดภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง เช่นน้ำท่วม หรือพายุถล่ม งบประมาณที่รัฐบาลจะนำไปใช้เยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยเร่งด่วน ก็มักเบิกจ่ายจากงบกลางเช่นกัน

การมุ่งกระทุ้งงบความมั่นคง งบลับ งบ กอ.รมน. และงบกลาง ของฝ่ายค้าน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมต้องหวังผลให้ผู้คนทั่วไปเห็นความไม่ชอบมาพากล ขาดความโปร่งใส และเป็นเรื่องผลประโยชน์ของพวกพ้องฝ่ายเดียวกัน

แต่การจะให้บรรลุผลดังที่คาดหวังไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับฝ่ายค้าน เพราะนักอภิปรายที่ช่ำชอง ลีลาดุเดือด พูดน้ำไหลไฟดับ ประเภทชาวต้องรอฟัง อย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ หรือแม้แต่ จาตุรนต์ ฉายแสง ล้วนไม่ได้เข้าไปวาดลวดลายในสภาผู้แทนฯ ให้สั่นสะเทือน

ภาระจึงตกเป็นหน้าที่ของนักอภิปรายในระดับเกรด 2 ที่ยังต้องรอวันพัฒนาศักยภาพเพื่อทดแทนและสร้างความตื่นเต้นเร้าใจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จิรายุ ห่วงทรัพย์ หรือยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ซึ่งรายหลังสุดเสียรูปมวยพอควรในวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อพยายามเปิดประเด็น "นายกฯหนีสภา" กระทั่งนำไปสู่การปะทะคารม หวิดฟาดฟากกับ กิตติศักดิ์ รัตวราหะ ส.ว.กลางสภา กับวาทะกรรม "เลียรองเท้าทหาร-ส.ส.ขี้ข้าโจร"

ถือเป็น"จุดอ่อน"ภายในที่ฝ่ายค้านต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เป้าที่วางไว้บรรลุผล รวมทั้งไม่ให้ฝ่ายกองเชียร์ต้องผิดหวัง

ดังนั้น ต้องไม่ท่าดีทีเหลว นะครับ