“เผ่าภูมิ” แนะ 5 ทิศทางจัดงบปี 63

2019-10-14 12:10:08

“เผ่าภูมิ” แนะ 5 ทิศทางจัดงบปี 63

Advertisement

“เผ่าภูมิ” ชง 5 ทิศทางจัดสรรงบประมาณปี 63 หยุดแจก หยุดหว่าน สร้างงาน สร้างการแข่งขัน

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณปี 2563 ว่า การจัดทำงบประมาณของประเทศเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ต้องทำอย่างมีทิศทาง ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และต้องเข้าใจปัญหาของประเทศ ทั้งนี้ตนมองว่าทิศทางหลักของงบประมาณประเทศ ควรจะเป็นดังนี้ 1. หยุดหว่านแห งบประมาณไทยไม่ได้มีมากพอที่จะถูกกระจายแบบหว่านแห ไร้การคัดกรองถึงความจำเป็นของผู้รับ การใช้งบประมาณต้องเล็งถึงผลลัพธ์จากตัวคูณทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การใช้งบประมาณที่ไม่คัดกรองผู้รับแบบ “มาตรการ ชิม ช้อป ใช้” โดยหลักมาก่อนได้ก่อน ใครก็ได้ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง การใช้งบประมาณควรมีจำเพาะเจาะจงสูง โดยหวังผลกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ส่งถึง

2. หยุดแจกแบบให้เปล่า การใช้งบประมาณไปกับนโยบายแจกต่างๆ ต้องระมัดระวัง ควรหยุดใช้งบประมาณกับการกระระตุ้นเป็นครั้งๆ แล้วหมดไปอย่างที่ทำอยู่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แจกเงินเที่ยว เที่ยวครั้งเดียวหมด หมดแล้วก็ไม่เที่ยวต่อ ทำไมไม่เอาเงินไปลงทุนกับแหล่งท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว สำหรับการแจกเบี้ยด้านสวัสดิการ คำว่ารัฐสวัสดิการไม่เคยเกิดจากการแจกเบี้ย แต่ต้องเกิดจากการเอาเบี้ยยึดโยงกับ "แรงจูงใจ" ให้คนเข้าสู่ "ตลาดแรงงานเพื่อสร้างรายได้" เช่นประเทศแถบสแกนดิเนเวียร์ที่มุ่งเน้น Active Welfare ในการนำไปสู่ “รัฐสวัสดิการ” ที่ยั่งยืน

3. ใช้งบประมาณสร้างอุตสาหกรรมใหม่ : เรามีความจำเป็นต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นหัวหอกการพัฒนา สงครามการค้าที่กระทบความสามารถในการส่งออกของจีน ตรงนี้เป็นโอกาส งบประมาณต้องเปลี่ยนไปสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไทยเคยเป็นห่วงโซ่การผลิตให้กับจีน ให้กลายเป็นผู้ผลิตหลักเองให้ได้ งบประมาณต้องทุ่มเทเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ให้แข่งขันได้และได้เปรียบบนเวทีโลก

4. ใช้งบประมาณไปสร้างงาน สร้างผลิตภาพ ปัญหาหลักของไทย คือ การอ่อนตัวของกำลังซื้อ ซึ่งเกิดจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำเป็นเวลานาน งบประมาณต้องถูกระดมไปแก้ที่ “คุณภาพและผลิตภาพ” ของพืชผลการเกษตร ไม่ใช่ทุ่มงบเพื่อ "การพยุงราคา" อย่างเดียว นอกจากนั้นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำโดยไม่ผูกกับการพัฒนาผลิตภาพและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ เป็นการหมักหมมปัญหา เหมือนเป็นการให้กู้มาทำสิ่งเดิมๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ สิ่งที่ควรทำคืองบประมาณควรจะสนับสนุนไปที่การสร้างงาน สร้างตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น สร้างให้คนมีงานทำ อย่าลืมว่าคนจะใช้จ่ายก็ต่อเมื่อคนมีความมั่นใจใน “กระแสรายได้ระยะยาว” ไม่ใช่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เป็นครั้งๆ จากการแจกแบบให้เปล่า

5. ใช้งบประมาณไปสร้างการแข่งขัน งบประมาณต้องไปสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ อย่าลืมว่าการแข่งขันเป็นการบีบบังคับให้คนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ผลิตต้องพัฒนาความสามารถของตนให้สูงขึ้นเพื่อให้แข่งขันได้ ต้องลงทุน ต้องสร้างนวัตกรรม นี่คือ “หัวใจหลักของการพัฒนา” งบประมาณต้อง "เข้าไปอุ้ม" คนเก่งแต่ขาดโอกาสในสังคม ให้สามารถเข้าสู่สนามแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม เป็นการแก้จน-ลดความเลื่อมล้ำที่ดีที่สุด