นักธรณีวิทยายืนยันหินสีเหลืองระยิบระยับที่ จ.มุกดาหารไม่ใช่ทองคำ แต่เป็น "แร่ไพไรต์" ไม่มีราคา
จากกรณีมีชาวบ้านบ้านคำพอก ต.โนนยาง อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร พบก้อนหิน และเศษหินจำนวนมาก ผิวของก้อนหินมีสีเหลือง แสงระยิบระยับ ชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะเป็นแร่ทองคำ ต่างพากันมาเก็บที่บริเวณก่อสร้างถนน 4 เลน สายกุฉินารายณ์- อ.หนองสูง จ.มุกดาหารนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ย.นายวศิน ศุภพิสุทธิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ทางอุตสาหกรรมได้เข้สมาตรวจสอบพื้นที่ แร่ที่พบไม่น่าจะเป็นแร่ทองคำ น่าจะเป็นแร่ไพไรต์ ซึ่งไม่มีค่าอะไรในเชิงธุรกิจ ฝากเตือนประชาชนถ้ามาขุดไปก็ไม่มีค่าอะไร
นายสุรเดช อัคราช ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก ผวจ.มุกดาหาร ได้เชิญนักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณี เข้ามาตรวจสอบยืนยันแร่ที่ขุดพบซึ่งชาวบ้านสงสัยเป็นแร่ทองคำ แต่เป็นแร่ไพไรต์ ซึ่งมีคุณค่าน้อยกว่าทองคำ อยากประชาสัมพันธ์ถึงพี่น้องประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าอย่าได้ตื่นตระหนก อย่าได้พากันมาขุดค้นในบริเวณที่ก่อสร้างมีจุดเล็ก ๆ ที่พบแร่ ซึ่งทางอำเภอได้ปิดสั่งห้ามบุคคลเข้าไปบริเวณก่อสร้าง เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุ
ด้านนายภูผา มุงคุณ นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 ขอนแก่น กล่าวว่า ได้ลงมาดูจุดที่ชาวบ้านตื่นทอง บริเวณบ้านคำพอก จากการตรวจสอบไม่ไช่แร่ทองคำ ตามที่ชาวบ้านแตกตื่น เป็นแร่ไพไรต์ ตระกูลกำมะถัน ที่เกิดร่วมกันได้กับแร่ทองคำ ทั้งนี้ได้เอาแร่มาสีกับกระเบื้อง ในการตรวจสอบสี ปรากฏว่าออกเป็นสีเข้มสีดำ ถ้าเป็นทองแท้สีจะออกเป็นทอง ขอให้ชาวบ้านอย่าตื่นตระหนก เพราะว่าไม่ใช่ทองคำ หินแร่ไพไรต์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ สภาวะที่เหมาะสมจะมีสารพวกเหล็ก กำมะถัน ที่พร้อมรวมตัวกันเกิดเป็นไพไรต์ โดยเฉพาะถ่านหิน มีตะกอนทับถมอยู่เป็นชั้นแถบแดง เวลาหินตะกอนทับถมจะมีซากพืช สะสมอยู่ทำให้เกิดกำมะถัน ภาวะมีแร่เหล็กในชั้นน้ำบาดาล ทำให้เกิดปฎิกิริยา ทำให้เกิดแร่ไพไรต์ขึ้นได้ ถ้าเจอเป็นแหล่งใหญ่ ๆ สามารถเอาไปสกัดเป็นกำมะถันเป็นตัวตั้งต้นของกรดกำมะถัน ถ้าเปรียบเทียบกับทองคำมีค่าน้อยกว่า
ทั้งนี้นักธรณีวิทยา เขต 2 ขอนแก่น ยืนยันว่า แร่ที่พบแร่ไพไรต์ หรือ เพชรหน้าทั่ง ไม่ใช่แร่ทองคำ ซึ่งเป็นแร่ที่นิยมนำเอามาเป็นส่วนผสมของเครื่องรางของขลังหายากหลายอย่าง เช่น นำไปทำหัวแหวน อุปมาดั่งเหล็กไหล กันสิ่งไม่ดีที่จะเข้าหาตัว