ปาฏิหาริย์ พาราควอต ระวัง "จ้างผีโม่แป้ง"

2019-10-11 14:20:21

ปาฏิหาริย์ พาราควอต ระวัง "จ้างผีโม่แป้ง"

Advertisement

สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นทั่วปฐพี เมื่อคนกลุ่มหนึ่งกำลังพยายามประลองกำลังกับผู้ยิ่งใหญ่และยิ่งยงอย่างพาราควอตและสหาย อันประกอบด้วย ไกลโฟเสท และคลอร์ไพริฟอส


หวังให้เรื่องแบนสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ตัวนี้ประสบมรรคผลความสำเร็จ เหมือนนานาอารยะประเทศ อย่าง ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลกที่ “แบน” ไปแล้วเสียที

โดยที่บางส่วนในกลุ่มนี้อาจหารู้ไม่ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหาไม่ยากเย็นเป็นปัญหาแล้ว ป่านฉะนี้ผืนดินประเทศไทย และพืชผักผลไม้ที่ผู้คนกินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน คงผุดผ่องบริสุทธิ์สดใส กินได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลไปนานแล้ว

ไม่ใช่ปล่อยยืดเยื้อคาราซังยาวนาน 20-30 ปีอย่างนี้ แม้จะรู้ทั้งรู้ และมีข้อมูลประกอบยืนยันชัดเจนว่า ชีวิตชาวนา เกษตรกร และผู้บริโภคต้องตายแบบผ่อนส่งจากสาร 3 ชนิดนี้

ขนาดในยุครัฐบาลพิเศษที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง รัฐมนตรีสาธารณสุขอย่าง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร คุณหมอที่รู้พิษภัยสารเคมีที่เป็นส่วนผสมสำคัญของยาฆ่าหญ้าเหล่านี้ จะเดินหน้าทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงขนาดเคยมีมติร่วมกัน ในการประชุม 3 กระทรวง เกษตรฯ-สาธารณสุข-อุตสาหกรรม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมวิชาการเกษตร กรมโรงงานอุตสาหกรรม เครือข่ายต้านภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) สำหรับการแบนงดใช้สารพาราควอต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย

แต่จนแล้วจนรอด ถึงขณะนี้ ยาฆ่าหญ้า ยาปราบศัตรูพืช ที่มีส่วนผสมสารพิษทั้ง 3 ชนิดก็ยังซื้อง่ายขายคล่องแบบปกติธรรมดา เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น


ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นเพราะ ชื่อพาราควอตและสหาย อาจไม่น่ากลัวนัก แต่ที่น่ากลัวมากกว่า คือบริษัทผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย รวมไปกระทั่งถึงผู้มีส่วนได้เสียจากการไฟเขียวให้สามารถนำเข้ามาและซื้อขายในประเทศได้ กลุ่มนี้อันตรายเป็นที่สุด

ด้วยโครงสร้างและกลไกที่ออกแบบให้พิลึกพิลั่น มีคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเป็นประธาน และหน่วยงานต่างๆ ระดับปลัดและอธิบดีซึ่งส่วนใหญ่จากภาครัฐเป็นกรรมการ รวมทั้งระดับผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้น 27 คน มีอำนาจชี้ขาดสูงสุด มากกว่ารัฐมนตรีเกษตร ที่ต้องเป็นผู้ลงนามอนุมัติให้นำเข้าได้หรือไม่ได้ จึงกลายเป็นการ “ล่อเอาเถิด” และยังเป็นข้ออ้างสำคัญของผู้มีอำนาจลงนาม ที่บอกว่าต้องรอมติกรรมการวัตถุอันตรายเสียก่อน

ยิ่งการลงมติโหวตเสียงของกรรมการชุดดังกล่าว เดิมทีเป็นเรื่องลงคะแนนลับ ทำให้ไม่สามารถจับมือใครดมได้ว่า เสียงส่วนใหญ่ที่สนับสนุนให้อนุญาตนำเข้าสารพิษดังกล่าวได้ต่อไป เป็นเสียงจากใคร และจากหน่วยงานไหนบ้าง ยังไม่นับรวม “ชุดข้อมูล” ที่กรรมการถืออยู่ในมือและใช้เป็นข้ออ้าง ยังเป็น “ชุดข้อมูลเดิมๆ”

ท่ามกลางกระแส “เงินลงขัน” ของผู้ค้า ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย ด้วยเงินเป็นหลักพันล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าการตลาดในประเทศที่คาดว่ามีประมาณ 6-9 หมื่นล้านบาทต่อปี

แม้กระแสแบนพาราควอตและสหาย จากประชาสังคมทั่วไป บวกกับท่าทีแข็งกร้าวของรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายดูแลเรื่องนี้ อย่าง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.จากพรรคภูมิใจไทย ถูกคาดหวังว่าจะสร้างแรงกดดันให้กับกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะประชุมพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 27 ตุลาคม ต้องมีมติที่สอดคล้องกับกระแสสังคม แต่ในทัศนะของนักวิชาการ อย่าง รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับเห็นว่า กรรมการ 4 ฝ่ายไม่ใช้ตัวจริง คนตัดสินใจสุดท้าย จะอยู่ที่กระทรวงเกษตร จึงเป็นหนังยาว ที่ยังต้องดูกันต่อไป

“เบื้องต้น มติ (กรรมการ 4 ฝ่าย) ที่ออกมา 9 ต่อ 0 อาจทำให้ภาคส่วนต่างๆดีใจ เมื่อเป็นคุณต่อเกษตรกร แต่ยังไม่จบง่ายๆ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ มีคนเกี่ยวข้องเยอะ มูลค่านับแสนล้านบาท คนที่เสียผลประโยชน์มหาศาลคงไม่ยอมง่ายๆ เป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่แจ้งกับฝ่ายในที่ลับ" รศ.ดร.วีระศักดิ์กล่าว และย้ำว่า หากเรื่องนี้จบกันง่ายๆ น.ส.มนัญญา คงไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ คงไม่วูบ จนต้องนำส่งโรงพยาบาลอีกคน

ปัจจัยที่สอดคล้องและสนับสนุนมุมมองของนักวิชาการจากจุฬาฯที่ระบุว่า จะยังไม่จบลงง่ายๆ คือการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกว่าสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทยที่กระทรวงเกษตรฯ เมื่อวานนี้ และระบุชัด หากจะแบนพาราควอต จะไปร้องที่ศาลปกครองเพื่อขอรับความคุ้มครองต่อไป

นับเป็นฉากภาคต่อ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของภาคใหม่ แต่จะมีเปลี่ยนรูป แปลงร่าง เป็นสงครามตัวแทนหรือไม่ ต้องติดตามแบบห้ามกระพริบตา!